พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ.2469

รัชกาลที่ 7 เสด็จถึงเมืองเชียงใหม่

เมื่อปี พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ โดยมีเจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการ พ่อค้า ชาวต่างชาติ และราษฏร รอถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ มีการจัดขบวนช้างแห่รับเสด็จเข้าเมือง ตั้งแต่สถานีรถไฟเชียงใหม่ไปจนถึงศาลากลางจังหวัด (ที่ประทับ) เมื่อเสด็จถึงพลับพลาทองที่ประทับแล้ว ได้มีการจัดพิธีทูลพระขวัญ โดยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน พร้อมด้วยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี, เจ้านายในมณฑลพายัพ, ตลอดจนประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชนกูล, สมุหเทศาภิบาล ร่วมกราบบังคมทูลเบิกกระบวนแห่พิธีทูลพระขวัญ และถวายตัว

รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินถึงเชียงใหม่โดยรถไฟ

 

ขบวนช้างแห่เสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่

 

ราษฎรในเชียงใหม่เฝ้ารับเสด็จฯ ที่หน้าพลับพลาทอง

 

พิธีทูลพระขวัญรับเสด็จฯ รัชกาลที่ 7

          ขบวนทูลพระขวัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเจ้านายฝ่ายเหนือนำฟ้อน โดยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้นำพานทองพระขวัญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้าจามรี (ภริยาเจ้าแก้วนวรัฐ) นำพานทองพระขวัญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชินี ตลอดจนบายศรี โต๊ะเงิน และเครื่องเสวย มีเหล่าเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ เป็นผู้ยกขึ้นถวายหน้าที่ประทับ

เจ้านายฝ่ายเหนือฟ้อนนำขันพระขวัญ รัชกาลที่ 7

 

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, เจ้าจามรี, เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าผู้ครองนครน่าน), เจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่), และเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูน) ซึ่งเป็นผู้ทำพิธีทูลพระขวัญ ได้ขึ้นบนพลับพลานั่ง บริเวณหน้าพระที่นั่งตามลำดับ จากนั้นเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ซึ่งอาวุโสที่สุด จึงอ่านคำกราบบังคมทูลเชิญพระขวัญ และทำการแห่เครื่องพระขวัญ โดยมีเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งหญิงและชายเดินเรียงแถวเป็นคู่ แบ่งเป็นขบวนแห่เครื่องพระขวัญของพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี อย่างละ 7 คู่ นำโดย เจ้าแก้วนวรัฐ กับ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (ผู้นำคู่ฝ่ายชาย) และเจ้าทิพวรรณ กฤษดากร ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้าบวรเดช กับ เจ้าหญิงส่วนบุญ ภริยาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (ผู้นำคู่ฝ่ายหญิง)

ขันพระขวัญ (บายศรี) ในการทูลพระขวัญ รัชกาลที่ 7

 

 การพระราชทานพระแสงราชศัสตรา

หลังเสร็จสิ้นพิธีทูลพระขวัญ พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระดำรัสต่อผู้ที่มาเข้าเฝ้า และทรงพระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อแสดงถึงความขอบคุณ และมิตรไมตรีอันดีที่มีต่อกัน ซึ่งปรากฏพระดำรัสในตอนหนึ่งว่า “…เพื่อเป็นเครื่องหมายที่เรามาถึงเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก เราจะมอบพระแสงราชศัสตราชั้นสูงสำหรับมณฑล ให้ไว้เป็นเกียรติยศแก่เมืองเชียงใหม่…” โดยพระแสงราชศัสตราดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้พระราชทานแก่หัวเมืองสำคัญที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จไปถึง สำหรับใช้ชุบทำน้ำพิพัฒน์สัตยา และใช้เป็นสิ่งสักการะต่างพระองค์ของพระมหากษัตริย์

ทรงดำรัสตอบผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระแสงราชศัสตรา

 

พระแสงราชศัสตราชั้นสูง สัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ (1)

 

พระแสงราชศัสตราชั้นสูง สัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ (2)

 

การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังได้ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้แก่ บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชาวต่างชาติ ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนามณฑลพายัพและเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ได้แก่ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ), เจ้าจามรีวงศ์ (ทุติยะจุลจอมเกล้า), เจ้าทิพยวรรณ กฤดากร ณ อยุธยา (เหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ 4), เจ้าแก้วนวรัฐ (ปฐมจุลจอมเกล้า), เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (มหาปรมาภรณ์), และ ฯลฯ

เจ้านายฝ่ายเหนือ และเหล่าข้าราชการที่ได้รับพระราชทานฯ

 

พระราชกรณียกิจสำคัญที่เมืองเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จไปพระราชทานธงแก่กองลูกเสือมณฑลพายัพ ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, ทรงเสด็จฯ ออกรับถวาย “ดอกเอื้องแซะ” จากชาติพันธุ์ลัวะ (ชนพื้นเมือง) อันเป็นการแสดงถึงความเคารพ และการขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์, ทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และโรงพยาบาลโรคเรื้อน, ทรงเสด็จฯ วางพวงมาลาอนุสาวรีย์อดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และทรงบำเบ็ญพระราชกุศลที่กู่เจ้านาย วัดสวนดอก, ทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรระบำและการขับร้องพื้นเมือง, ตลอดจนได้เสด็จฯ ไปยังตำหนักของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เพื่อเสวยพระกระยาหารร่วมกัน

พระราชทานธงแก่กองลูกเสือ ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

 

ทรงเสด็จฯ เยือนโรงพยาบาลโรคเรื้อนเกาะกลางเชียงใหม่

 

เสด็จฯ วางพวงมาลากู่บรรจุอัฐิเจ้านาย และเจ้าเมืองเชียงใหม่ ณ วัดสวนดอก

 

การสมโภช และการพระราชทานช้างเผือก

ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จฯ ไปร่วมงานสมโภช “ลูกช้างเผือก” เกิดใหม่ ณ บริเวณเชิงดอยสุเทพ และได้รับถวายช้างเผือกเชือกดังกล่าว จากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และมิสเตอร์แมคฟี ผู้จัดการบริษัทบริติชบอร์เนียว (บริษัททำไม้ในภาคเหนือ) โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานนามให้ว่า “พระเศวตคชเดชน์ดิลก” ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐ ได้มีจดหมายถึงกรมราชเลขาธิการในพระองค์ไว้ความว่า “…นับเป็นบุญญาธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก พอทรงกะว่าจะเสด็จมณฑลพายัพ ก็มีของมงคลเกิดขึ้นคอยรับเสด็จ แลเป็นโชคลาภอันยิ่งของเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ของเช่นนี้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเป็นสวัสดีมงคลต่อไป…” การเกิดขึ้นของช้างเผือก ในช่วงการเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่แสดงถึงพระบุญญาธิการ  และพระบรมราชานุภาพของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรลูกช้างเผือก

 

พระพุทธสิหิงค์กับการประพาสเมืองเชียงใหม่

ในช่วงก่อนการเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งไว้กับทางกรมศิลปากรว่า ให้เร่งบูรณะตกแต่งพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งพระสิงห์ถูกอัญเชิญลงมาไว้ยังกรุงเทพฯ เพื่อทำการบูรณะซ่อมแซมจากการถูกลักลอบตัดพระเศียรไปในปี พ.ศ.2465 โดยพระองค์ทรงรับสั่งให้นำส่งตามขึ้นไป ให้ทันก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพราะพระองค์ประสงค์จะร่วมพิธีสมโภช และปิดทองเป็นปฐมฤกษ์ที่วัดพระสิงห์ จากบันทึกพบว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 พระองค์ พร้อมด้วยพระราชินี ได้ทรงเสด็จฯ มาประทับ ณ วิหารวัดพระสิงห์ ทรงจุดเทียนทองเงินบูชาพระพุทธปฏิมากร และทรงปิดทององค์พระพุทธสิหิงค์ พระสงฆ์มีพระเทพมุนีเป็นประธานสวดพระพุทธมงคลคาถา เจ้าพนักงานร่วมประโคมเครื่องดุริยางค์ แล้วจึงโปรดเกล้าพระราชทานทองแก่เจ้านายและข้าราชการปิดเป็นการต่อไป จากนั้นทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ และเสด็จประทับที่พระราชอาสน์ พระราชาคณะถวายอดิเรกเป็นอันเสร็จพิธี

ทรงทอดพระเนตรการตักบาตรที่วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่

 

เมื่่อเสร็จสิ้นพิธีทรงเสด็จออกประทับ ณ พระราชอาสน์หน้าพระวิหาร และทรงทอดพระเนตรแห่ครัวทานตามประเพณีคนเมือง ซึ่งจัดขบวนแห่เทียบเรื่องพระเวสสันดรชาดกตั้งแต่กัณฑ์ทศพรจนถึงนครกัณฑ์ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเงินช่วยเหลือจำนวนกัณฑ์ละ 10 บาท ในทุก ๆ กัณฑ์ เนื่องในโอกาสการสมโภชพระพุทธสิหิงค์ จากนั้นข้าทูลละอองธุลีพระบาท และประชาชนจึงได้ร่วมกันปิดทองพระสิงห์ พระสงฆ์ได้เจริญพระพุทธมนต์ ถัดจากนั้นได้มีมหกรรมการสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

รัชกาลที่ 7 และพระราชินี เสด็จประทับหน้าวิหารวัดพระสิงห์

 

นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังทรงรับเป็น “เค้าทาน” (ประธานในการปฏิสังขรณ์) พระอุโบสถและหอธรรม (หอไตร) วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร โดยได้พระราชทานเงินช่วยเหลือจำนวน 10,500 บาท ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นสิริมงคลแก่ชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงเสร็จสิ้นพระราชกิจ และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่เมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระนคร ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 โดยมีเหล่าเจ้านาย ข้าราชการ กงสุล ชาวต่างชาติ และราษฎร คอยส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติที่สถานีรถไฟเชียงใหม่

ขบวนแห่ครัวทานในการสมโภชพระพุทธสิหิงค์

 

ขบวนรถยนต์พระที่นั่งในการเสด็จพระราชดำเนิน

 

อ้างอิงข้อมูล:

กมล มโนชญากร. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2474.

จดหมายเหตุเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือแลนครเชียงใหม่ พ.ศ.2469, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ (บุญทวงษ์ ณ ลำปาง). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2470.

บุญเสริม สาตราภัย. ลานนาไทยในอดีต. เชียงใหม่: โรงพิมพ์ช้างเผือกการพิมพ์, 2522.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417 – 2476.” วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง. พิธีทูลพระขวัญ รับเสด็จ ร.7 ประพาสเมืองเชียงใหม่. (30 มกราคม 2561); สืบค้นจาก: https://www.chiangmainews.co.th/page/page/archives/515503/

 

อ้างอิงรูปภาพ:

กมล มโนชญากร. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2474.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417 – 2476.” วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.

สถาบันดำรงราชานุภาพ. การเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของผู้ว่าราชการจังหวัด. กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, 2550.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง. พิธีทูลพระขวัญ รับเสด็จ ร.7 ประพาสเมืองเชียงใหม่. (30 มกราคม 2561); สืบค้นจาก: https://www.chiangmainews.co.th/page/page/archives/515503/

King Prajadhipok Study. พระเศวตคชเดชน์ดิลก : ช้างเผือกคู่พระบารมีพระปกเกล้าฯ. (7 มีนาคม 2558); สืบค้นจาก: https://kingprajadhipokstudy.blogspot.com/2015/03/blog-post_7.html?m=1&fbclid=IwAR3jEcSf 5Ca5fTSjM0XXT ZuEyc9zwBecg_hny0C6i6G0X7sG2Df_4yb8b9E

ร่วมแสดงความคิดเห็น