20 หน่วยงานลงนาม MOU เปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคม ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

20 หน่วยงานลงนาม MOU เปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคม พร้อมจัดเวทีเสวนาการพัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติ ยกระดับอย่างต่อเนื่อง หากสำเร็จจะได้แม่ฮ่องสอนโมเดล ให้กับตำบลอื่นๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป 

วันนี้ 10 มีนาคม 2565 นายชนาธิป เสมแย้ม ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมและร่วมลงนาม MOU เพื่อพัฒนาศักยภาพคุณภาพชีวิตของประชากรตำบลแม่ลาหลวง โดยมีนายวิชัย นะสุววรณโน ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นายแฉล้ม ทองเกลา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสุชิน ไฟรสงเคราะห์ รองนายก อบต.แม่ลาหลวง พ.อ.ธเนษ ภัทรวรรณ รอง ผบ.นพค.ที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนานายวิชัย ปีนะสุ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สบอ.ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ร่วมกับสมาคมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ลาหลวงซึ่งเป็นภาคีเครือข่าย รวม 20 องค์กร ลงนามร่วม และร่วมเวทีเสวนาการเสริมสร้างการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ยกระดับให้เป็นต้นแบบ(Model) การพัฒนาชุมชนแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมพลังงานสะอาดน้ำและแสงสว่าง เพื่อยกระดับสัมมาชีพ วิถีชีวิตที่เหมาะสมกับภูมิสังคม ก้าวพ้นจากความจน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน


โดยนายวิชัย นะสุววรณโน ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้กล่าวถึงบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไป สู่การแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ภายใต้การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสำคัญของการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ภาคีแสดงถึง ความมุ่งมั่นความร่วมมือ จะร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตำบลแม่ลาหลวงทุกมิติในกลุ่มเป้าหมายผู้เปราะบาง และประชาชนทั่วไป เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน และที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงตามแนวตะเข็บชายแดน การร่วมมือในการพัฒนานี้ย่อมก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมชุมชนและสร้างสรรค์แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนในรูปแบบใหม่โดยการเน้นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีในรูปแบบของสังคมพอเพียงและมีสิ่งแวดล้อมที่ดียั่งยืนเกิดการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ


ทางด้านนายแฉล้ม ทองเกลา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์แห่งนี้ ในด้าน พมจ.ได้สำรวจข้อมูลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน มีคุณภาพชีวิตที่ต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับ ให้มีศักยภาพเพียงพอในการพึ่งพาตนเองตามแนวทางยุทธศาสตร์จังหวัด การยกระดับคุณภาพชีวิตแก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ การดูแลเด็กแรกเกิด เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ร่วมขับเคลื่อนกับเครือข่ายภาคี ต่างๆ ที่เป็นกลไกหลัก ทาง พมจ.จะเป็นการมาเสริมและมาบริการในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นแนวทางต้นแบบในการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่อื่นๆของจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงบุคคลกลุ่มเปราะบาง และบุคคลที่ไร้ที่พึ่ง ที่อยู่ในส่วนของ พมจ.ต้องเข้าไปช่วยเหลือและดูแลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน


ทั้งนี้ นายสุชิน ไฟรสงเคราะห์ รองนายก อบต.แม่ลาหลวง เปิดเผยว่า ได้ร่วมกันสำรวจและนำข้อมูล รายละเอียดผู้อยู่อาศัยในตำบลแม่ลาหลวง พ.ศ.2565 พบว่าประชากรจำนวน 1,183 คน หรือ 322 ครัวเรือน ใน 9 หมู่บ้าน กับอีก 4 หมู่บ้านบริวาร โดยบูรณาการฐานข้อมูลจากหน่วยงานความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยแบบบูรณาการร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ด้อยโอกาสมีบ้านที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมีความชัดเจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์และความถูกต้อง อันจะนำมาซึ่งการรักษาผืนป่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระยะยาวได้ เกิดกระบวนการวางแผน การพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ มีการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างระบบภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจแบบหมู่ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสู่คุณภาพชีวิตมั่นคง ประสานความร่วมมือในการร่วมกันสนับสนุนการจัดทำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในการดำเนินการด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมการพัฒนาทุกมิติ และส่งต่อแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับอย่างต่อเนื่อง หากสำเร็จจะได้เป็นแม่ฮ่องสอนโมเดล ให้กับตำบลอื่นๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น