งานวันสถาปนา ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ประจำปี 2565 ในพื้นที่ภาคเหนือ

ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ได้เริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 โดยมีคุณหญิงโมและนางสาวบุญเหลือ พร้อมผู้ติดตาม ได้รวมตัวกันด้วยความเสียสละเพื่อต่อสู้กับ กองทัพเจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ที่ยกมาตีเมืองโคราช จนกองทัพข้าศึกแตกพ่ายไป จึงนับว่า เป็นวีรกรรมที่เสียสละอย่างแท้จริง ของประชาชนที่ได้รวมตัวกัน ลุกขึ้นสู้กับศัตรูของชาติ และได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด รัชกาลที่ 3 จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานฐานันดรศักดิ์ ให้คุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี” และจากวีรกรรมของประชาชนดังกล่าว ทางราชการจึงได้ถือเอา วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน “ไทยอาสาป้องกันชาติ” และจากการผนึกกำลังกันขึ้นมาเป็นราษฎรอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ร่วมมือสนับสนุนส่วนราชการ ในการป้องกันบรรเทาภัยพิบัติ และการก่อความไม่สงบในทุกรูปแบบ และร่วมกันอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในทุกด้าน โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปนั้น คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ. 2521”

เพื่อจัดตั้งกลุ่มราษฎรอาสาสมัคร ให้รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเรียกชื่อว่า “ไทยอาสาป้องกันชาติ” ใช้ชื่อย่อว่า “ทสปช.” เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือทางราชการ ในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และเป็นกำลังประชาชน ในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึงการก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ ตลอดจนร่วมอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามที่มาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งบ่อนทำลายสถาบัน การปลูกฝังค่านิยม และความเชื่อแบบผิดโดยใช้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น กลุ่มมวลชนไทยอาสาป้องกันชาติ จำเป็นที่ต้องปรับบทบาท และช่วยปกป้องความมั่นคงของชาติด้านต่างๆตามสถานการณ์

สำหรับประเภทของ ทสปช. สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ทสปช. ป้องกันตนเอง ซึ่งจะทำการฝึกอบรมในพื้นที่อันตรายหรือหมู่บ้านที่อยู่ตามแนวชายแดน ที่มีการคุกคามของฝ่ายศัตรู
  2. ทสปช. คุ้มครองพัฒนา จะทำการฝึกอบรมในหมู่บ้านที่เป็นชุมชนหรือในเขตสุขาภิบาล เทศบาล เป็นต้น
  3. ทสปช. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะทำการฝึกอบรมเฉพาะในเขตชุมชน ที่มีบ้านเรือนหนาแน่นในเขตสุขาภิบาลหรือเขตเทศบาล
  4. ทสปช. ในทะเล จะทำการฝึกอบรมเฉพาะชาวประมง หรือผู้มีอาชีพเกี่ยวกับการประมงในพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้จัดกิจกรรมรวมพลัง “วันสถาปนาไทยอาสาป้องกันชาติ” (ทสปช.) ประจำปี 2565 ปีที่ 44 ณ ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มมวลชน ที่มีความรักชาติ รักสถาบัน มาแสดงออกถึงอุดมการณ์ ในการช่วยรักษาความมั่นคง พร้อมมอบเกียรติบัตรให้ ไทยอาสาป้องกันชาติ ต้นแบบ จำนวน 20 คน

ซึ่งเป็นแบบอย่างในการสร้างความมั่นคง ให้กับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม รายละเอียดดังนี้

  1. นาย สมชาติ สุนเงิน
  2. นาย ชัชวาลย์ ทำเสาร์มูล
  3. นาย ชัชพล แก้ววงค์วาน
  4. นาย สุขสวัสดิ์ ปู่แก้ว
  5. นาย กิตติพันธุ์ ปวงคำ
  6. นาย กฤตนัย มังคลาด
  7. นาย สุวิชา กัมพลาวลี
  8. นาย รัชชานนท์ ไชยชนะ
  9. นาย อภิรักษ์ การบูรณ์
  10. นาย อรุณ ศรีนิยม
  11. นางสาว สุภัคตรา สายอินจักร์
  12. นาย นคร ปัญญาแก้ว
  13. นาย วุฒิพงษ์ นรินทร์
  14. นาย พงศ์ภัณ รัตนาดารา
  15. นาย สมเกตุ คุณครอง
  16. นาย ยงยุทธ นุลาย
  17. นาย จักรกฤษณ์ คะปุกคำ
  18. นาย จะดะ จะลอ
  19. นาย ธงชัย แปงปวน
  20. นาย ฏศิลป์ อาชา

นอกจากนี้แล้ว ภายในงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ยังได้จัดให้มีการสาธิต การปฏิบัติงานของเครือข่ายความมั่นคงภายใน เพื่อริเริ่มดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภาคเหนือ ดังนี้

  1. การแสดงสาธิตการฝึก ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)
  2. การแสดงของชุดครูฝึก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3
  3. การแสดงนิทรรศการกลุ่มส่งเสริมอาชีพ ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)

จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกโอกาส, พร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติในทุกมิติ และร่วมมือกับทุกเครือข่ายงานความมั่นคง เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากวิกฤตทุกโอกาส รวมทั้งผนึกกำลังทุกภาคส่วนสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติสืบไป


คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
16 มีนาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น