แม่ญิงลุ่มแม่น้ำโขงสะท้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง

การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง หลังจากที่ได้มีการสร้างเขื่อน และการระเบิดเกาะแก่ง ในช่วงต้นของแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบนิเวศของแม่น้ำแล้ว อาชีพของคนลุ่มแม่น้ำโขงก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย เช่นการทำประมง แม่น้ำโขง การหาไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง การร่อนทอง การเกษตรริมแม่น้ำโขง ที่ลดลง ทำให้ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่ การศึกษาผลกระทบที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและการหาทางออกให้กับคนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบัน บทบาทของสตรี หรือ ทางภาคเหนือเรียกว่า แม่ญิง ถือว่าเป็นอีกบทบาทสำคัญในการสะท้อนปัญหาต่างที่เกิดขึ้นได้ไม่น้อยกว่ากลุ่มเครือข่ายอื่นๆ

นายธีระพงศ์ โพธิ์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การทำงานวิจัยในโครงการแม่ญิง แม่น้ำโขง ของสมาคมสถาบันลุ่มน้ำโขง จึงได้เกิดการริเริ่มขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาความเป็นอยู่ของผู้หญิงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ โดยโครงการ เป็นการทำงานระยะสั้นเป็นเวลา 1 ปี โดยเก็บข้อมูลจาก 5 หมู่บ้านในจังหวัดเชียงราย ที่บ้านเชียงแสนน้อย บ้านหาดบ้าย บ้านปากอิงใต้ บ้านแจ่มป๋อง บ้านห้วยลึก เพื่อเก็บข้อมูลและขุดคุ้ยปัญหาในแม่น้ำโขง เพื่อสะท้อนปัญหาในมุมมองของผู้หญิง ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่นเด็ก และคนชรา เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ในส่วนผลกระทบจากแม่น้ำโขง

ทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างข้ามพรมแดน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะผู้หญิงเองก็เป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพแต่ว่าถูกละเลยมาโดยตลอด สถาบันชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงได้เห็นถึงความสำคัญ และผลกระทบของผู้หญิง จึงได้มีโครงการที่จะส่งเสริมบทบาทผู้หญิงลุ่มแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย ให้มีบทบาทและศักยภาพในการจัดการปัญหาโดยที่เราจะทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การทำวิจัยชาวบ้านการจัดการทรัพยากรณ์ลุ่มแม่น้ำโขงโดยกลุ่มผู้หญิงเป็นผู้ทำการวิจัย โดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้หลัก การอบรมพัฒนาศักยภาพ การเสริมสร้างเครอข่าย และการเผยแพร่ความรู้

“จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลก็พบว่าผู้หญิงมีความสำคัญเกี่ยวกับแม่น้ำโขงหลายด้าน คือเกษตรริมโขง การหาปลา การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การหาไก การร่อนทอง การหาผักริมแม่น้ำ การคมนาคมการไปมาหาสู่กัน และประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งผลกระทบของผู้หญิงเมื่อก่อนการอยู่การกินก็ง่าย เก็บพืชผักที่ปลูกตามริมน้ำมากิน ไม่ต้องไปซื้อ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้วเพราะปลูกผักไว้ยังไม่ทันโตทางเขื่อนก็ปล่อยน้ำมาพัดเสียหาย ซึ่งก็หวังว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและเชื่อมประสานกับกลุ่มแม่ญิงกลุ่มอื่นๆ ทั้งภาคอีสานของไทย รวมถึงประเทศอื่น เพื่อให้มีบทบาทที่เข้มแข็งและมีพลังต่อไป” ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง กล่าว

แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านหลายประเทศ และมีชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงหลายแห่ง ที่มีความเป็นอยู่ผูกพันกับแม่น้ำโขง การจะเปลี่ยนแปลงให้แม่น้ำโขงกลับมาเป็นเหมือนเดิม อาจจะเป็นการยาก แต่การที่จะทำอย่างไรให้สามารถฟื้นฟูและหาทางออกให้คนลุ่มแม่น้ำโขงได้กลับมาใช้ชีวิตในชุมชนบ้านเกิดของตนเองได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้านยังคงเป็นโจทย์ที่ต้องได้รับการร่วมมือจากทุกฝ่าย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ร่วมแสดงความคิดเห็น