ทางรอดของชุมชนลุ่มน้ำโขงในวันที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับเขื่อน

สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (Mekong Community Institute – MCI) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศลุ่มน้ำ ได้ก่อตั้งและยื่นจดทะเบียนเป็นสมาคมในปี พ.ศ. 2557 และได้มีการควบรวมเข้ากับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเมื่อปลายปี 2559 โดยมีเป้าหมายในการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนลุ่มน้ำโขงที่รวมเอาชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงและได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนลุ่มน้ำโขงมาอย่างยาวนาน จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องและการดำรงชีพของชุมชน

นายธีระพงษ์ โพธิ์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า จากการทำงานในสายงานของลุ่มน้ำโขงมายาวนาน ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทั้งในเชิงนิเวศน์และเชิงของการดำรงชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำโขง จึงเกิดแนวคิดที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาปากท้องและผลกระทบของชุมชนที่ได้รับ จากการที่ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเดิม ไม่สามารถปลูกผักหรือทำการเกษตรริมฝั่งโขงได้อีก เพราะระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำโขงได้เสียหายไปหมดแล้ว จากการที่ระดับน้ำโขงขึ้นลงไม่ปกติ ท่วมในหน้าแล้ง แห้งในหน้าฝน หลายปีที่ผ่านมาชุมชนลุ่มน้ำโขงต้องดิ้นรนและแก้ปัญหาโดยลำพังตามวิถีชาวบ้าน ยังไม่เคยมีหน่วยงานไหนเข้ามาให้การช่วยเหลือใดๆเลย จุดนี้ทำให้กลุ่ม ได้จัดทำโครงการที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการใช้นวัตกรรมทางการเกษตรและประมง เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีความรู้ในการเลี้ยงปลาและปลูกผักโดยใช้ระบบ อาควาโปนิกส์ ซึ่งในประเทศไทยไม่ค่อยมีการส่งเสริมด้านนี้เท่าใดนัก และในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือ จากคุณไกรทอง เหง้าน้อย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และได้พัฒนาถังเกษตรนี้ขึ้นมา โดยให้มีการเลี้ยงปลาในถังและปลูกผักบนฝาปิด การทำการทดลองนี้ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กสศ. หรือกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา โดยได้มีการสนับสนุนกลุ่มชุมชนลุ่มน้ำโขง 3 ชุมชนด้วยกันคือ ชุมชนหาดบ้าย ชุมชนปากอิงใต้ ชุมชนบ้านห้วยลึก

นอกจากการสนับสนุนให้การมีการเพาะเลี้ยงพันธ์ปลาเศรษฐกิจในครัวเรือนแล้ว ยังได้มีการต่อยอดโดยการให้ความรู้ในการแปรรูปอาหารและการถนอมอาหารให้สามารถเก็บไว้กินได้นานขึ้น หรือสามารถนำมาจำหน่ายในตลาดได้ด้วย เช่น การทำปลาแดดเดียว ปลาร้า การบรรจุภัณฑ์ที่ยึดอายุอาหาร การทำแพคเกจที่น่าสนใจ โดยมี นายธนัช สายอินต๊ะ วิทยากรด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และเป็นผู้ประสานงานโครงการคนกล้าคืนถิ่น อยู่ที่กรุงเทพมหานคร มาให้ความรู้กับชาวบ้านในชุมชนด้วย

ผลที่คาดจะได้รับจากการจัดทำโครงการนี้ก็หวังเพื่อจะให้ชุมชนและชาวบ้านได้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดปัญหาเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ และการสร้างอาชีพในอนาคตโดยจะมีการต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ได้รับมานำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของชุมชน รวมไปถึงนำเสนอหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจจะเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของชุมชนได้ต่อไปในอนาคต

นายไกรทอง เหง้าน้อย เจ้าหน้าที่ภาคสนามของสมาคมชุมชนลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงการนำความรู้ที่มีด้านการพัฒนานวัตกรรมถังเกษตรแบบผสมผสานเพื่อการทดลองเลี้ยงปลาและปลูกผักแบบอาควาโปนิกส์ โดยได้มีการจัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่างจากการสนับสนุนของ UNDP โดย MCI จำนวน6 ชุมชน คือ บ้านเกี๋ยง บ้านเวียงหมอก ต.ห้วยซ้อ บ้านบุญเรือง ม2 ต.บุญเรือง บ้านงามเมือง บ้านป่าบง บ้านป่าข่า และได้ขยายผลการ ทดลองเพิ่มอีก ใน 3 ชุมชน

โดยได้มีการจัดหาถังพลาสติกขนาดความจุ 160-170 ลิตร ที่พอจะเลี้ยงปลาได้ประมาณ 70-80 ตัว หรืออย่างมากที่สุด 100 ตัว เชื่อมต่อด้วยท่อ PVC ทั้ง 3 ถัง เป็นการเลี้ยงแบบน้ำหมุนวน โดยใช้พลังงานจากการสะท้อนของโซล่าเซลล์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ มีท่อวัดระดับน้ำระหว่างถัง เพื่อเวลามีการเติมน้ำเปลี่ยนน้ำหรือฝนตก น้ำที่เกินจากขอบถังจะได้ไหลออกไป โดยฝาด้านบนของถังจะมีการเจาะรูขนาดความกว้างพอดีสำหรับแก้วพลาสติกเจาะรูตรงก้นแก้วเพื่อใช้เพาะกล้าผัก หรือพืชผักสวนครัวที่สามารถนำมาหย่อนไว้ใช้ในการประกอบอาหาร โดยผักเหล่านี้จะได้ปุ๋ยจากขี้ปลาที่ขับถ่ายในถังทำให้พืชผักที่ได้อาหารสำหรับการเจริญเติบโตเพียงพอและนอกจากนี้น้ำที่ล้นออกจากท่อวัดระดับ ก็จะไหลเข้าสู่แปลงผักใกล้เคียงได้อีกด้วย เรียกได้ว่าระบบไม่มีการสูญเปล่าเลย

สาเหตุที่ต้องใช้ลักษณะเป็นถัง แยกออกแบบนี้ก็เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามต้องการ และสามารถจัดสรรให้อยู่ในพื้นที่ ที่เหมาะสมได้ในพื้นที่จำกัด และดูแลได้ง่ายเหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือชาวบ้านที่ไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอกไม่มีพื้นที่ทำกินมากนัก การเปลี่ยนถ่ายน้ำก็เพียงแค่เติมน้ำในถังแรกที่เหลือก็จะดันน้ำไปในถังต่อๆไป แล้วระบายออก ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำขึ้นอยู่กับการควบคุมอาหารปลาของแต่ละบ้าน ถ้าให้อาหารมากเกินไปปลากินไม่หมดอาหารในถังจะเน่าเสีย ก็อาจจะต้องเปลี่ยนบ่อย อาจจะ 3 วัน 5 วัน แต่ถ้าบ้านไหน คอยสังเกตและให้อาหารปลาเป็นเวลา สม่ำเสมอ ก็ใช้เวลาเป็นเดือนถึงจะเปลี่ยนน้ำ 1 ครั้ง โดยระบบนี้จะเหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาที่ต้องการออกซิเจนต่ำเช่นปลาดุก ปลาหมอ แต่ถ้าเป็นพวกปลานิลก็จะต้องใช้อีกระบบนึงซึ่งต้องหมุนเวียนน้ำตลอดเวลา

การเพาะเลี้ยงลักษณะนี้เหมาะสำหรับเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน โดยเฉพาะตอนนี้ชุมชนประสบปัญหาการหาปลาไม่ได้ และปัญหาของความแห้งแล้งไม่มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับเพาะปลูกพืชผัก แต่ถ้ามีถังเกษตรนี้ จะยังคงมีผักและปลาให้ใช้บริโภคได้ถือเป็นอีกทางเลือกนึงให้กับชุมชน

สำหรับในช่วงเวลาที่ได้เริ่มการทดลองมาที่พื้นที่ชุมชนหาดบ้ายใช้เวลามาประมาณ 3 เดือน กว่าๆ ช่วงเวลาที่เริ่มทดลองเลี้ยงปลาที่ผ่านมาในช่วงฤดูหนาวอัตราการรอดอยู่ที่ 70-80% และกินอาหารได้น้อยกว่าปกติ ทำให้โตช้าไปบ้าง แต่ถือว่ายังได้ผลดี อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่ก็ต้องคอยศึกษาปัญหาควบคู่ไปกับการพัฒนาต่อไป
การจัดทำโครงการเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆโครงการที่ ทาง สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง หรือMCI ร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนถึงมุมมองในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสร้างการพัฒนาฝีมือแรงงาน การสร้างอาชีพของชุมชนในภาวะที่ไม่สามารถพึ่งพาแหล่งทรัพยากรในแม่น้ำโขงในการดำรงชีพได้อีกเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะผู้หญิงในฐานะที่ต้องหาอาหารปลูกผักและทำการเกษตรริมฝั่งโขงกลายเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ที่ต้องแบกรับความเครียดเหล่านี้ไว้

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ในฐานะภาคีความร่วมมือของโครงการนี้ ได้อธิบายถึงที่มาของการจัดทำโครงการ ว่าทั้งการเพาะเลี้ยงปลาและการแปรรูปปลานั้น มีที่มาที่ไปจากการเห็นปัญหาของชุมชนลุ่มน้ำโขงที่ประสบปัญหาในด้านการประกอบอาชีพ การดำรงชีพ ซึ่งสะท้อนว่าการพัฒนาแม่น้ำโขงได้ทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ทำลายเศรษฐกิจพื้นฐานและวิถีชีวิตที่เคยพึ่งพาอาศัยทรัพยากรในแม่น้ำโขง นอกเหนือไปจากนี้แม่น้ำโขงยังเป็นแม่น้ำสายใหญ่ เป็นแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากแม่น้ำคองโกและแม่น้ำแอมะซอน เคยเป็นที่หล่อเลี้ยงชุมชนภาคเหนือตอนบนมาอย่างยาวนาน แต่ตอนนี้กลับไม่มีปลาให้จับ ความสมดุลของพืชพันธ์และสิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่อาศัยสูญหาย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติของโลกในมุมกว้างว่าโลกกำลังจะสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปพร้อมๆกับแม่น้ำสายสำคัญของโลก

ส่วนในมุมมองของการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ทำได้เพียงทำอย่างไร เราถึงจะพึ่งตัวเอง ให้ได้มากที่สุด ในด้านของการใช้ชีวิตการดำรงชีวิตต่อไป แต่ในส่วนของภาพมุมกว้างในแม่น้ำสายหลักในเรื่องการ จะไปยับยั้งในส่วนของการสร้างเขื่อนของจีน นั้นเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นส่วนของแม่น้ำสาขาของเราเช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำกก ก็มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะพอทำได้ในบางจุด เช่นการดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ ดูแลแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งเพาะพันธ์ปลาโดยธรรมชาติในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำหรือ Wetland รวมไปถึง ห้วย หนอง คลองบึงต่างๆ เหล่านี้

และอีกประการนึงที่สำคัญไม่แพ้กัน คือในเรื่องของการปรับตัวให้อยู่รอด หรือการพึ่งตัวเองที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ว่าจะทำยังไงชุมชนถึงจะอยู่รอดได้ ในภาวะการณ์ที่เป็นแบบนี้ เช่นการปรับตัวโดยไปทำอาชีพอื่นได้หรือไม่ แต่ว่าควรจะต้องปรับแบบไหนถึงจะอยู่ให้ได้ กับแม่น้ำที่ระบบนิเวศน์ไม่สามารถพึ่งพาได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว แนวคิดของการพึ่งตนเองที่ได้วางแผนไว้นอกจากการเลี้ยงปลาปลูกผักในระบบอาควาโปนิกส์ ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจ จำพวกปลาหมอ ปลาดุกแล้ว ยังมีแผนที่จะพยายามให้มีการเพาะพันธ์ปลาที่เป็นปลาท้องถิ่นจำพวก ปลากด ปลาเพี้ยะ ปลาคัง ปลาค้าว ซึ่งจุดนี้เป็นภาพสะท้อนของชาวบ้านในชุมชนที่ยังคิดถึงปลาในแม่น้ำโขงและได้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา ทำให้ต้องกลับไปค้นคว้าหาข้อมูลหาความรู้วิธีการเพาะเลี้ยงก่อน ซึ่งในเชิงวิชาการก็อาจสามารถทำได้ และหวังว่าในอนาคตจะได้ทำโครงการวิจัยเชิงวิชาการในเรื่องของการทดลองเพาะเลี้ยงพันธ์ปลาท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย

สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากการจัดทำโครงการนี้คือภาพสะท้อนของความล้มเหลว ในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงในเชิงนิเวศน์วิทยาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ทั้งวิถีชีวิตของชุมชนเอง รวมไปถึงการดำรงอยู่ของพันธ์ปลาท้องถิ่น ทรัพยากรพื้นฐานในแม่น้ำโขง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกันโดยทั้งหมดได้ถูกทำลายลงอย่างช้าๆ จากที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับ 3 โลก แต่ปัจจุบันกลับใช้ประโยชน์ใดแทบจะไม่ได้เลย ระบบน้ำขึ้นน้ำลงไม่แน่นอน เกิดประกฎการณ์น้ำท่วมในหน้าแล้งแห้งในหน้าฝน เราจะทำอย่างไรถึงจะยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาวการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะชุมชนลุ่มน้ำโขงโดยทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เราจะรับมือยังไงกับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือจะมีกลไกใดที่พอจะเข้ามาแก้ไขและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรเหล่านี้ ให้ดำรงคงอยู่ต่อไปได้ชั่วลูกหลาน นี่ยังเป็นคำถามที่ยังคงต้องรอคำตอบต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น