ข่าวปลอม! กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเสนอให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท

วันที่ 20 มี.ค. 65 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่มีการส่งต่อข่าวในประเด็นเรื่องกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเสนอให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการโพสต์ข่าวลือโดยระบุว่ากระทรวงแรงงานเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ เบื้องต้น 492 บาท/วัน ยังไม่สรุปว่าเท่าไหร่ แต่ปรับขึ้นแน่นอน ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบรายละเอียดและชี้แจงว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการไตรภาคี ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง พิจารณาร่วมกัน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่ได้เสนอให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท เนื่องจากการพิจารณาเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งขณะนี้มีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะพิจารณาอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในจังหวัดของตนและนำเสนอต่อไป

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทรสายด่วน 1506

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่ได้เสนอให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท เนื่องจากการพิจารณาเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งขณะนี้มีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะพิจารณาอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในจังหวัดของตนและนำเสนอต่อไป

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น