แจงการขับเคลื่อนและผลการดำเนินการของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ศปปง.ตร.

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงถึงแนวทางการขับเคลื่อนและการดำเนินการของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปปง.ตร.)

ในปัจจุบันยังคงมีการกระทำความผิดของอาชญากรในหลายรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน และหลังจากที่ได้ทรัพย์สินมาจากการกระทำความผิดแล้ว ก็จะทำให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบของการฟอกเงินตามมา ซึ่งการฟอกเงินนั้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และยังส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในหลายๆ ด้านอีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบันกลุ่มอาชญากรต่างๆ ก็ได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบของการฟอกเงินให้มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งคดีในลักษณะนี้นั้นมีความแตกต่างจากคดีทั่วไป ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และต้องใช้ระยะเวลาในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เป็นเวลานาน เนื่องจากความซับซ้อนและปริมาณของหลักฐานต้องใช้เป็นจำนวนมาก

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามอาชญากรรมและการฟอกเงิน
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปปง.ตร.) และมอบหมายให้ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อควบคุมสั่งการ และประสานการปฏิบัติร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพ และเร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และมูลฐานความผิดที่เชื่อมโยงถึงการฟอกเงิน รวมถึงนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างจริงจังต่อเนื่องเด็ดขาด เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป

โดยจากข้อมูลสถิติของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2565 ได้มีการรับร้องทุกข์ในความผิดมูลฐานรวมกว่า 45,000 คดี โดยมีคดีอาญาฐานฟอกเงินกว่า 47 คดี และมีคดีความผิดอาญาฟอกเงินที่สำนักงาน ปปง. ได้เข้าร้องทุกข์จำนวน 23 คดี แบ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด ,ฉ้อโกงประชาชน ,การพนันออนไลน์, ความผิดต่อหน้าที่ฯ เป็นต้น มีผลการดำเนินการสืบทรัพย์(เดือน ม.ค.-ก.พ.65)ไปแล้ว 149 เป้าหมาย มูลค่าทรัพย์สิน 496,466,249 บาท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินมาตราการขยายผลยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินนั้นจะยึดเอา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นหลัก ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการพิเศษไว้ทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง โดยมาตรการทางแพ่ง คือ การขอให้ทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน และมาตรการทางอาญา คือ ความผิดอาญาฐานฟอกเงิน รวมถึงผู้สนับสนุน ช่วยเหลือ พยายาม และสมคบกันเพื่อฟอกเงินด้วย และมีการกำหนดโทษให้ผู้ที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวต่อว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ขยายผลถึงผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทุกรายตามขั้นตอนของกฎหมาย
รวมถึงขอฝากเตือนเกี่ยวกับการรับเปิดบัญชีม้า คือ การรับจ้างเปิดบัญชี หรือ ให้ผู้อื่นใช้บัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด เช่น ยาเสพติด ฉ้อโกง การพนันและความผิดฐานฟอกเงิน เป็นต้น โดยมักถูกชักจูงและได้รับค่าเปิดบัญชีเพียงหลักร้อย เมื่อมิจฉาชีพนำบัญชีไปกระทำความผิด เจ้าของบัญชีก็จะถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายมีโทษถึงจำคุก
นอกจากนี้หากพี่น้องประชาชนหากพบเบาะแสหรือการกระทำความผิดต่างๆ สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น