วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ทำความเข้าใจ ปลอดภัย หายห่วง

ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคที่ระบาดหลักเกือบร้อยละ 100 คือ สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดของโรคเมื่อครั้งที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลัก มีความแตกต่างทางระบาดวิทยาของโรคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก กล่าวคือ ในการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า พบผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณร้อยละ 14 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ในปัจจุบันสำหรับการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เราพบผู้ป่วยเด็กติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด-19 จำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจน

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ประมาณร้อยละ 21.5 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงของสายพันธุ์เดลต้า และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไป พบว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้เป็นเด็กวัยเรียนที่มีอายุในช่วง 6-12 ปี จำนวนมากขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดของโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ ได้แก่ สายพันธุ์อัลฟ่า และสายพันธุ์เดลต้า เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น

  1. เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ง่าย ดังนั้นจึงพบการระบาดภายในครอบครัวสูงขึ้น
  2. ในช่วงการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน สถานศึกษาส่วนมากเริ่มเปิดเรียนแบบ On-Site จึงพบการติดเชื้อจากคุณครู หรือเพื่อนในชั้นเรียนได้
  3. เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ดังนั้นอาจยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน

ความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก
​แม้ว่าเด็กที่มีการติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า แต่สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กนั้น สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม โดยภาวะแทรกซ้อน 2 ภาวะหลักนั้น ได้แก่

  1. กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่สัมพันธ์กับโรคโควิด-19 ในเด็ก หรือ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) ภาวะแทรกซ้อนนี้มักเกิดขึ้นตามหลังจากที่เด็กมีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ไปแล้ว ประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 แต่ภูมิคุ้มกันดังกล่าวในเด็กบางรายอาจสูงมากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย อาการและอาการแสดงของภาวะ MIS-C ได้แก่ มีไข้ ผื่นตามร่างกาย ตาแดง ปากแดง แห้ง และแตก ต่อมน้ำเหลืองโต บางรายอาจพบอาการผิดปกติทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงระบบทางเดินอาหารร่วมด้วยได้ โดยเด็กบางรายอาจมีอาการรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้
  2. ภาวะ Long-Covid ซึ่งถือเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคโควิด-19 ชนิดเรื้อรังและพบได้ในระยะยาว ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 ไปแล้ว ประมาณ 3 เดือนขึ้นไป อาการผิดปกติที่พบได้มีความหลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป เป็นต้น ส่วนใหญ่อาการผิดปกติดังกล่าวนั้นมักเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง นานติดต่อกันเกิน 2 เดือนขึ้นไป

ดังนั้น แม้ว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 มักมีอาการป่วยไม่รุนแรงในช่วงขณะที่มีการติดเชื้อ แต่สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคโควิด-19 ดังกล่าว คือ การพาเด็กไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรงได้
ชนิดของวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11.9 ปี ที่มีใช้ในประเทศไทย

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติและรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ที่แนะนำให้ใช้ได้สำหรับเด็กอายุ 5-11.9 ปี มี 2 ชนิด คือ

  1. วัคซีนชนิด mRNA คือ วัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม ซึ่งมีความแตกต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีม่วง ที่ใช้ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ กล่าวคือ วัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม จะมีขนาด 10 ไมโครกรัมต่อโดส ในขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีม่วง จะมีขนาด 30 ไมโครกรัมต่อโดส โดยในขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้มนั้น ได้รับการรับรองให้ใช้ได้สำหรับเด็กที่มีอายุ 5-11.9 ปี
  2. วัคซีนชนิดเชื้อตาย ปัจจุบันในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ วัคซีน Sinovac หรือ CoronaVac และ วัคซีน Sinopharm ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถฉีดในเด็ก ในปริมาณที่เท่ากับที่ใช้ในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ กล่าวคือ วัคซีน Sinovac ปริมาณ 3 ไมโครกรัมต่อโดส และวัคซีน Sinopharm ปริมาณ 4 ไมโครกรัมต่อโดส โดยในขณะนี้วัคซีน Sinovac และ Sinopharm ได้รับการรับรองให้ใช้ได้สำหรับเด็กที่มีอายุ 6 ปี ขึ้นไป

สูตรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11.9 ปี
​ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สูตรหลักหรือสูตรปฐมภูมิ สำหรับเด็กอายุ 5-11.9 ปี ที่แนะนำโดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข คือ วัคซีนชนิด mRNA หรือ วัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ พบว่าการฉีดวัคซีนห่างกัน 8-12 สััปดาห์ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนห่างกัน 3-4 สัปดาห์

สำหรับผู้ปกครองที่อาจมีข้อกังวลใจในการฉีดวัคซีนชนิด mRNA สามารถเลือกฉีดวัคซีนสูตรทางเลือก หรือวัคซีนสูตรไขว้ ได้ คือ เริ่มต้นฉีดเข็มแรกด้วยวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งอาจเป็นวัคซีน Sinovac หรือวัคซีน Sinopharm และตามด้วยวัคซีนชนิด mRNA คือ วัคซีน Pfizer ฝาสีส้ม เป็นเข็มที่สอง โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์

สำหรับเด็กอายุ 5-11.9 ปี ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น วัคซีน Sinovac หรือวัคซีน Sinopharm มาแล้ว 2 เข็ม วัคซีนสูตรนี้ถือเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี แต่อาจไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมถึงสายพันธุ์โอไมครอน ดังนั้นคำแนะนำในปัจจุบัน คือ เด็กในกลุ่มนี้ควรรับวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม เมื่อครบ 1 เดือนหลังฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายเข็มที่ 2 แล้ว เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงที่สุด และสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้

เด็กกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง ที่ควรได้รับวัคซีน
สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงเด็กที่มีพัฒนาการช้า โรคทางพันธุกรรม และโรคระบบประสาทผิดปกติอย่างรุนแรง แนะนำให้ผู้ปกครองรีบพามารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเร็ว เนื่องจากหากมีการติดเชื้อ อาจเกิดโรครุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิตได้

ติดโควิด-19 แล้วจำเป็นต้องฉีดวัคซีนอยู่ไหม ?
​สำหรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ไปแล้วนั้น ขึ้นกับว่าตอนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 เด็กได้รับวัคซีนไปแล้วกี่เข็ม กล่าวคือ

  1. หากเด็กยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ โดยเริ่มฉีดเข็มแรกที่ 12 สัปดาห์ นับจากวันที่เริ่มมีอาการป่วยหรือผลตรวจพบเชื้อ
    2. หากเด็กได้รับวัคซีนไปแล้ว จำนวน 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดวัคซีนอีก 1 เข็ม ที่ 12 สัปดาห์ นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือผลตรวจพบเชื้อ
    3. หากเด็กได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และมีการติดเชื้อโควิด-19 ภายหลัง ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2565)

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19
อาการข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กวัย 5-11.9 ปี พบได้เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ จึงจำเป็นต้องให้เด็กอยู่สังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาทีหลังฉีด ณ สถานพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังการแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีนชนิดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นอาจพบอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนภายหลังการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สามารถพบภายหลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ได้นั้น ตามรายงานจากต่างประเทศ พบว่ามักพบในเด็กผู้ชาย ตามหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สำหรับในประเทศไทยยังพบรายงานน้อยมาก อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เด็กงดการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงอย่างมาก ในช่วง 1 สัปดาห์ หลังได้รับวัคซีน นอกจากนี้ผู้ปกครองควรสังเกตว่าหากเด็กมีอาการเจ็บอก เหนื่อยหอบง่าย หรือเป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ ในช่วงเวลาดังกล่าว ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นอาการแสดงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดขึ้นตามหลังการฉีดวัคซีนได้

ขั้นตอนการขอเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก
เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กนั้น ทางรัฐบาลได้จัดสรรและกระจายวัคซีนผ่านทางสถานศึกษาเป็นหลัก ดังนั้นหากผู้ปกครองประสงค์จะให้บุตรหลานของท่านได้รับวัคซีน สามารถติดต่อประสานงานกับคุณครูประจำชั้น หรือสถานศึกษาของบุตรหลานของท่านได้โดยตรง โดย ณ ปัจจุบัน เด็กกลุ่มอายุ 5-11.9 ปี ทั่วประเทศ ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ประมาณร้อยละ 26 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2565)

​ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันบุตรหลานของท่านไม่ให้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งติดต่อได้ง่ายมาก การพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดที่มีในปัจจุบัน ถือเป็นวิธีการสำคัญในการป้องกันโรค

ข้อมูลโดย รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น