นายกฯ หนุน MOU 7 กระทรวงร่วมพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ‘เด็กปฐมวัย-ผู้สูงอายุ’ อย่างยั่งยืน

​วันนี้ (24 มีนาคม 2565) ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง : การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัย และผู้สูงอายุ) พ.ศ. 2565-2569 พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางสาวตรีนุช เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

​นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายให้เด็กแรกเกิดถึง 5 ปี ร้อยละ 85 มีพัฒนาการสมวัย และเด็กพัฒนาการสงสัยล่าช้า มีการแนะนำให้ผู้ปกครองไปกระตุ้นพัฒนาการ โดยใช้คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual : DSPM) ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aged Society) อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2583 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 31 หรือประมาณ 20.5 ล้านคนของประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นและมีความสำคัญ ต่อการพัฒนาศักยภาพคนไทยให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ และมีสุขภาพดี โดยการพัฒนาคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการสร้างรากฐานของชีวิตทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ที่สำคัญ สมองของมนุษย์มีกระบวนการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สมองจะเติบโตถึงร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่ ตั้งแต่ขณะเป็นทารกในครรภ์จนถึงอายุประมาณ 3 ปี หากเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม จะเกิดผลกระทบต่อการสร้างเส้นใยประสาท ทำให้สมองพัฒนาไม่เต็มที่ ศักยภาพการเรียนรู้ลดลง ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยในอนาคต

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในครั้งนี้ โดยเป้าประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข คือ เด็กปฐมวัยมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ พัฒนาการสมวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับบริการและคุ้มครองอย่างทั่วถึงเท่าเทียมตามมาตรฐาน ภายใต้กรอบการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต 5 H ประกอบด้วย 1) Heart จิตใจดี มีวินัย 2) Head เก่งคิด วิเคราะห์เป็น 3) Hand ใฝ่เรียนรู้ มีทักษะ 4) Health สุขอนามัยดี สุขภาพแข็งแรง 5) Hi-tech ทันสมัย ก้าวหน้า รู้เท่าทันเทคโนโลยี นอกจากกลุ่มปฐมวัยแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุ ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ควรให้ความสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ผู้สูงวัยเป็นหลักชัย ของสังคม ด้วยหลัก 4 S ประกอบด้วย 1) Social Participation ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม 2) Social Security ส่งเสริมความมั่นคง ปลอดภัย 3) Strong Health ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง 4) Smart Digital and Innovation ส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างชาญฉลาด

“สำหรับบทบาทหน้าที่ของ 6 กระทรวงในการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ได้กำหนดบทบาท ดังนี้ 1.) กระทรวงมหาดไทย ดำเนินงานสนับสนุนส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 2.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานพัฒนา เด็กปฐมวัยและกลุ่มด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัยให้สามารถดูแล พัฒนา คุ้มครอง ฟื้นฟู ให้เด็กปฐมวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านระบบ e-learning และส่งเสริมศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริม อาชีพผู้สูงอายุคุณภาพเป็นพื้นที่ต้นแบบการบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ 3.) กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความร่วมมือในดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้เข้าถึงข้อมูลและบริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาผู้สูงอายุให้มีความสามารถในการ ใช้เทคโนโลยีควบคู่กับความรอบรู้ทางดิจิทัล และรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ 4.) กระทรวงแรงงาน ดำเนินงานคุ้มครองและส่งเสริมหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอดให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่เหมาะสม และสนับสนุน การจัดตั้งมุมนมแม่ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานประกอบกิจการ รวมทั้งพัฒนาฝีมือแรงงานและพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมให้แก่ผู้สูงอายุ ด้านการส่งเสริมทักษะฝีมือและการประกอบอาชีพตามความต้องการของผู้สูงอายุ 5.) กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาครูและบุคลากรในการจัดการศึกษาปฐมวัยให้มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน รวมทั้งสนับสนุนพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในครอบครัว ในชุมชน และส่งเสริมการมีงานทำของประชากร วัยแรงงาน และ 6.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินงานสนับสนุนความรู้และ ร่วมพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการวิจัยและการผลิตนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนเพื่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและพัฒนาระบบเทคโนโลยี Digital platform ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น