สอศ.จัดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2564

 

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2565 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกและประเมินผลงานในระดับภาค ทั้ง 5 ภาค แบ่งเป็น 5 ประเภท ๆ ละ 20 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 100 ผลงาน เข้าร่วมประเมินในรูปแบบระบบออนไลน์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและชุมชน

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า การจัดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน เสริมสร้างเยาวชนอาชีวศึกษาให้เป็นนักประดิษฐ์ นักวิจัย คิดค้นนวัตกรรมสร้างสรรค์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล พัฒนาทักษะและกระบวนการเข้าถึงองค์ความรู้ ทักษะวิชาชีพของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ก้าวทันเทคโนโลยีของโลกในยุคของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยนวัตกรรม ตลอดจนขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สู่ชุมชน เป็นการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ชุมชน จำนวน 100 ผลงานที่ร่วมกับ สถานประกอบการหรือชุมชน

โดยมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกและประเมินผลงานในระดับภาค ทั้ง 5 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกและกทม. ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประเมินผ่านระบบออนไลน์ แบ่งเป็น 5 ประเภท ๆละ20 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 100 ผลงานได้แก่ ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอร์ฟแวร์และระบบสมองกลฝังตัว ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตร และประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

“การจัดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษาในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งในการส่งเสริมเยาวชนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำองค์ความรู้และทักษะวิชาชีพมาประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน และสังคม อีกทั้งยังเป็นการฝึกการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นด้วย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเยาวชนของชาติให้เป็นกำลังหลักในอนาคตที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี Thailland 4.0”

กลุ่มประชาสัมพันธ์ / 24 มีนาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น