กรมอนามัย แจง ครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว – น้ำมันปาล์ม ไม่ใช่แหล่งไขมันทรานส์

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แจงครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ไม่ได้เป็นแหล่ง ของไขมันทรานส์ แต่ยังให้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก หากกินทุกวันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการออกกำลังกาย อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)


ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวในเว็บไซต์ของศูนย์ต่อต้านข้อมูลข่าวปลอม ว่า ครีมเทียมเกิดจากการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เพื่อเปลี่ยนจากของเหลวให้เป็นของแข็ง กระบวนการนี้ทำให้เกิดไขมันทรานส์ จะเสี่ยงต่อการเกิด เส้นเลือดอุดตัน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากกระบวนการผลิตครีมเทียม จากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เป็นการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ (fully hydrogenation) จึงไม่ได้ เป็นแหล่งของไขมันทรานส์ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามการควบคุม และกำกับดูแลไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 ปี 2561 เรื่องห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ จึงได้มีการสุ่มตรวจ วิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป พบปริมาณไขมันทรานส์ ระหว่าง 0.02 – 0.25 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งเกณฑ์การแสดงค่าสารอาหารบนฉลากโภชนาการ ตามที่กฎหมายระบุค่าที่วิเคราะห์ได้น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 100 กรัม สามารถแสดงค่าบนฉลากเป็น 0.0 กรัม จากผลวิเคราะห์สามารถยืนยันได้ว่า ครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ไม่ได้เป็นแหล่งหลัก ของไขมันทรานส์ ตามที่มีการเผยแพร่

ดร.แพทย์หญิงสายพิณ กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกระบวนการผลิตครีมเทียมจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เป็นแบบไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ เมื่อคำนวณเทียบต่อหน่วยบริโภค (3 กรัม) ร่างกายจะได้รับ ไขมันทรานส์น้อยมาก แต่ในครีมเทียมยังเป็นแหล่งของไขมัน และมีส่วนประกอบที่เป็นสารให้ความหวาน มากถึงร้อยละ 60 รวมทั้งปริมาณที่ใช้ต่อการผสมในเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ ค่อนข้างเยอะ หากกินทุกวันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการออกกำลังกาย ก็จะเกิดการสะสมไขมันตรงตับ ในรูปของไกลโคเจน ซึ่งถ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดเป็นไขมันสะสม ส่งผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในที่สุด
“ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำ ให้ประชาชนบริโภคกรดไขมันทรานส์ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยต้องไม่เกินกว่าปริมาณพลังงานร้อยละ 1 ของปริมาณพลังงานที่บริโภคต่อวัน คือ 2.2 กรัมต่อวัน หรือ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ควรบริโภค พลังงานจากกรดไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานที่บริโภคต่อวัน หรือกรดไขมันอิ่มตัว 22 กรัมต่อวัน หรือ 5 กรัมต่อมื้อ โดยผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับไขมันทั้งหมด ร้อยละ 20 – 35 ของพลังงานทั้งหมด ที่ควรได้รับต่อวัน ได้แก่ น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา ไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 และไขมันทรานส์น้อยกว่าร้อยละ 1 ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน” ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น