เร่งถ่ายโอน รพ.สต.ให้ อบจ. ท่ามกลางกระแสบุคลากร-หลายฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน

นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดเผยว่ากระบวนการถ่ายโอน รพ.สต.ไปให้ท้องถิ่นนั้นการจะชะลอคงยาก เพราะกฎหมายดำเนินการแล้ว และตอนนี้ รพ.สต.แสดงเจตจำนงต่อ อบจ.ในพื้นที่เกือบ 4,000 แห่งจากที่มีทั้งหมด 9,700 แห่ง

ในรอบแรกมีราวๆ 50 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แจ้งความจำนงให้คณะอนุกรรมการฯ ประเมินตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะต้องมีการถ่ายโอน รพ.สต.ในรอบแรก 1 ต.ค. 2565 และ ยืนยันว่า ภารกิจการถ่ายโอนเงินเดือนของบุคลากรนั้นจะไม่เกี่ยวข้อง และไม่มีการนำมาคำนวณเป็นภาระค่าใช้จ่ายร้อยละ 40% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อปท. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 ที่พบการล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาหลายประการซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ในการกำหนดนโยบายในการดูแลตนเอง “ขณะนี้มี รพ.สต. เกือบ 70 แห่งทั่วประเทศที่ได้โอนภารกิจไปอยู่ในการดูแลของท้องถิ่นแล้ว หากมีการชะลอการโอนภารกิจ เนื่องจาก รพ.สต. ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม จะกระทบไปถึง รพ.สต.และท้องถิ่นที่มีความพร้อม”

ด้านนายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา (กมธ.สธ.) ระบุว่าการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังอบจ.คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้พิจารณาศึกษาและติดตามการดำเนินการพบว่า มี รพ.สต.ที่ยื่นความประสงค์จำนวน 3,036 แห่งและบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะถ่ายโอนยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ อีกทั้งระบบสาธารณสุข และเครือข่ายสาธารณสุขมีระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างเครือข่าย ไม่ได้มีลักษณะเหมือนบริการสาธารณะอื่นๆ เพราะบริการสุขภาพ การสาธารณสุขนั้นมีหลายมิติและต้องดูแลบริการต่อเนื่อง”การจัดสรรงบอุดหนุนจากท้องถิ่นมาสมทบเป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ รพ.สต.ได้งบประมาณเข้ามาเติมในระบบ แต่ควรคำนึงถึงระยะยาวว่าอาจเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเพียง 8 ปี ท้องถิ่นให้งบอุดหนุนเพิ่มมากถึง 726 ล้านบาท การถ่ายโอน รพ.สต.เป็นนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ และการกระจายอำนาจเป็นหลักการที่ดี มีหลายวิธี ไม่ใช่มีเพียงการถ่ายโอนเท่านั้น”

ทั้งนี้จากการสอบถามบุคลากรรพ.สต.ในพื้นที่ลำพูน และเชียงใหม่พบว่าเฉพาะลำพูนมี รพ.สต 71 แห่ง ใน 8 อำเภอให้ความสนใจพร้อมร่วมมือในการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่ อบจ. ซึ่งส่วนหนึ่งยังกังวลในเรื่องระเบียบ กรอบอัตราตำแหน่ง สวัสดิการ ความก้าวหน้าและการจัดสรรงบประมาณเพื่อบริการด้านสาธารณสุข ในรูปแบบรพ.สต. ที่ดูแลรับผิดชอบแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน หากมีการใช้งบด้านสาธารณสุขมากไปอาจส่งผลต่อสวัสดิการด้านอื่นๆ ที่บุคลากร อบจ.เคยได้รับ ซึ่งหลายๆอบจ.มีการแจ้งให้รับทราบว่า หนึ่งในนั้นคืออีก 5 ปี โบนัสท้องถิ่นของ อบจ. อาจไม่มี หรือต้องจัดสรรในรูปแบบสวัสดิการอื่นๆ เนื่องจาก มีงบจำกัด ต้องใช้จ่ายกับภารกิจถ่ายโอนรพ.สต.และอื่นๆ อีกด้วย

สำหรับ รพ.สต.ที่ประสงค์จะถ่ายโอนไปยังอบจ.นั้นบุคลากรส่วนหนึ่งมองว่า อบจ.มีงบประมาณมาก โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ แต่ถ้าเป็นจังหวัดเล็กๆ ไม่มีงบสาธารณสุขเข้ามาเติม ก็อาจมีผลต่อการบริหารจัดการ รพ.สต.ในอนาคตได้เช่นกัน ซึ่ง การถ่ายโอนรพ.สต.ไปยังอบจ.ลำพูน เป็นอีก พื้นที่มีความตื่นตัว และความพร้อมสูงโดยผู้บริหารท้องถิ่น พร้อมทั้ง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการเปิดพื้นที่ระดมความคิดเห็น หาข้อสรุปอย่างต่อเนื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น