เดินหน้ารถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน เพื่อผลประโยชน์คนไทย

 

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย หรือเรียกง่ายๆว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ถ้านับตั้งแต่ 21 ธันวาคม ปี 2560 ที่เป็นวันเริ่มก่อสร้างจนมาถึงตอนนี้ปี 2565 ก็เข้าปีที่5แล้ว แต่โครงการกลับมีความคืบหน้าไม่มากนัก เนื่องมาจากปัญหาหลายประการ อย่าง การเวนคืนที่ดินยังไม่ได้หลายพื้นที่ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาก็ยังมีความพยายามผลักดันโครงการให้เดินหน้าต่อไป เพื่อผลประโยชน์ที่ชาวไทยจะได้รับ
ไฟเขียว พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ 5 จังหวัด เดินหน้าเฟส 1

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นแบบทางคู่ ไทยเป็นผู้ลงทุนงานโยธาหรืองานก่อสร้างทั้งหมด ส่วนจีนรับผิดชอบในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ในส่วนงานก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2เฟส เฟส1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร งบประมาณ 1.796 แสนล้านบาท เฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร งบประมาณ 2.543 แสนล้านบาท รวมทั้ง 2 เฟส เป็นระยะทาง609 กิโลเมตร งบประมาณรวม 4.339 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเฟส 1 แต่มีความคืบหน้าไม่มากนัก โดยเฟส 1 มีทั้งหมด 14 สัญญา ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเพียงสัญญาที่ 1 คือช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น อีก 7 สัญญาอยู่ระหว่างก่อสร้าง อีก3 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง และอีก 3 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
การก่อสร้างในหลายสัญญาของเฟส 1 ที่ยังล่าช้า สาเหตุหลักมาจากเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา หรือ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเส้นทางก่อสร้างยังไม่มีการประกาศใช้ ดังนั้นการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมาจึงได้ปลดล็อคปัญหานี้ด้วยการเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา รวมพื้นที่จะเวนคืน 667 ไร่ หลัง พ.ร.ฎ. ประกาศใช้และเวนคืนที่ดินเสร็จ การก่อสร้างจะเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้นและคาดว่าจะเปิดใช้บริการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ได้ภายในปี 2569
เตรียมสร้างเฟส 2 ปีนี้ เชื่อมต่อ ลาว-จีน
ขณะที่เฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2572 -2573 โดยเมื่อแล้วเสร็จทั้ง 2 เฟส จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ลาว-จีน ณ จังหวัดหนองคายของไทยไปยังนครหลวงเวียงจันทร์ ของ สปป.ลาว ไปจนถึงเมืองคุณหมิง ประเทศจีน เมื่อถึงตอนนั้นก็จะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายยาว กรุงเทพฯ -หนองคาย-ลาว-จีน ส่งผลดีต่อประชาชนทั้ง 3 ประเทศ โดยเฉพาะด้านการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันและการขนส่งสินค้า จะสะดวกรวดเร็วขึ้นอย่างมาก
เป้าหมายและผลประโยชน์ของคนไทยจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ -หนองคาย เป็นหนึ่งในสี่เส้นทางระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงของไทย มีเป้าหมายเพื่อทดแทนระบบรถไฟชานเมืองและรถไฟสายต่าง ๆ พร้อมเชื่อมต่อภาคธุรกิจเข้ากับตัวเมืองอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน เพื่อหวังเชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางของประเทศกลุ่มซีเอ็มแอลวี คือ จีน มาเลเซีย ลาวและเวียดนามเข้ากับไทย ให้เสมือนเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาเป้าหมายดังที่กล่าวก็จะเห็นว่าเป็นเป้าหมายโดยรวม แต่หากลองจำแนกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงต่อชาวไทยแล้วก็พบอยู่หลายประการด้วยกัน อย่าง
– การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะการเดินทางไกลด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง อัตราความเร็ว 250/ชั่วโมง ซึ่งเป็นอัตราความเร็วที่จะใช้ในไทย ย่อมเร็วกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์หลายชั่วโมง ทำให้การเดินทางใช้เวลาน้อยลงอย่างมาก แถมยังช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมันจากรถยนต์ และเดินทางปลอดภัยยิ่งขึ้น
– ได้ประโยชน์จากหน่วยธุรกิจที่จะเกิดรอบสถานี จาก กทม.-หนองคาย จะมีสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง 11 สถานี แน่นอนว่าแต่ละสถานีจะมีหน่วยธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเกิดขึ้นโดยรอบ จะเกิดการจ้างงานประชาชนในพื้นที่รอบสถานีหลายหมื่นอัตรา
– ที่ดินสองข้างทางเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะมีมูลค่ามากขึ้นและจะถูกพัฒนาไปในหลายด้าน ทั้งด้านที่อยู่อาศัย แหล่งธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว จะถูกพัฒนาให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง นำมาซึ่งรายได้และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่สองข้างทางกว่า 600 กม.ให้ดีขึ้น
– การคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทันสมัยขึ้นจากรถไฟฟ้าความเร็วสูง ย่อมดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามายังไทยมากขึ้น สร้างรายได้ให้ชาวไทยและประเทศไทย ได้มากขึ้นด้วย ฯลฯ
ผลกระทบจากโครงการและการช่วยเหลือจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตามทุกโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบตามมา โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ก็เช่นกัน มีผู้ได้รับผลกระทบในหลายส่วน หลักๆ คือผู้ที่จะถูกเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาใช้ก่อสร้าง อย่างกรณี ล่าสุดเมื่อ 22 มีนาคม ครม.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา รวมพื้นที่จะเวนคืน 667ไร่ เมื่อ พ.ร.ฎ.นี้ประกาศและมีผลบังคับใช้ จะมีอายุการบังคับใช้ไปอีก4ปี ซึ่งนั้นหมายความว่า ภายใน4ปีหลัง พ.ร.ฎ ประกาศใช้ เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ฎ ไปเวนคืนที่ดินจำนวน 667ไร่ ในบางส่วนของ5จังหวัดที่ประกาศไปได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติมว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืนกี่ราย จากการจะบังคับใช้ พ.ร.ฎ.นี้
เมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้นจากการเวนคืนก็ย่อมมีแนวทางการเยียวจากภาครัฐตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าชดเชยการเวนคืนที่ถูกตั้งไว้ก่อนแล้วในงบก่อสร้าง ภาครัฐจะนำมาชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบตามจำนวนและราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนของแต่ละรายในอัตราตามกำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ. หรือจัดหาที่อยู่ใหม่สำหรับกรณีครอบครัวหรือชุมชน ที่ถูกเวนคืนจนไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้

ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น