ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เยี่ยมชม และพบปะหารือร่วมกับผู้ประกอบการ

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565ที่ผ่านมา นางลลิดา จิวะนันทประวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เยี่ยมชม และพบปะหารือร่วมกับผู้ประกอบการ โดยมี นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน พร้อมด้วย หัวหน้ากลุ่ม เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ให้การต้อนรับ และร่วมลงพื้นที่ ดังนี้

  • พบปะผู้ประกอบการศรีวิลัยผ้าฝ้าย อำเภอป่าซาง ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าจากใยกัญชง เพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาด
  • เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ อำเภอบ้านโฮ่ง สำหรับวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ อำเภอบ้านโฮ่ง

ก่อตั้งขึ้นมาในปีพุทธศักราช 2548 จากการส่งเสริมของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มส่งเสริมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยในพื้นที่มีการปลูกลำไยจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาเรื่องผลผลิตออกมาจำนวนมาก ตามมาด้วยปัญหาลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำ ขณะเดียวกันการปลูกลำไยได้มีการใช้สารเคมีและปุ๋ย ส่งผลต่อสุขภาพของคน ทำให้เกิดแนวคิดส่งเสริมทำเกษตรอินทรีย์ขึ้นมาในกลุ่ม โดยผลผลิตลำไยในท้องตลาดจะมีการใช้สารเคมีในสัดส่วน 99% และเป็นเกษตรอินทรีย์ 1% เท่านั้น กลุ่มในพื้นที่จังหวัดลำพูน ทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 100 ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีความแตกต่างและไม่มีคู่แข่ง รวมถึงเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ สำหรับพื้นที่ของครอบครัวทำเกษตรอินทรีย์และปลูกลำไยอินทรีย์ไปพร้อมกัน โดยมีเครือข่ายสมาชิกในพื้นที่มาร่วมดำเนินการ พร้อมกันนี้ได้มุ่งที่จะหาความรู้และต่อยอด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาร่วมเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต ผลผลิตลำไยอินทรีย์ที่ได้จะแบ่งเป็นลูกลำไยที่มีขนาดใหญ่ จะมีลูกค้าประจำมารับซื้อผลผลิตที่สวน ส่วนลำไยที่มีขนาดเล็กได้ใช้เทคโนโลยีฟรีซดาย (Freeze Dry) ในการแปรรูปผลผลิต จึงช่วยสร้างผลผลิตที่มีความแตกต่างและมีคุณภาพตามที่ต้องการ ได้เข้าไปหารือกับผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการขอคำปรึกษาเรื่องนี้ ส่งผลให้สามารถมีสารสำคัญอยู่ในลำไยอบแห้ง โดยได้นำเทคโนโลยีฟรีซดายมาใช้เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนหน้านี้และได้ทำเป็นรายแรก ผลผลิตของลำไยอบแห้งจะมีราคาประมาณ 4,000 บาท/กิโลกรัม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ และมีกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการสูง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ มีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ทั้งประเทศญี่ปุ่น สหรัฐ และเยอรมนี พร้อมกันนี้ในกลุ่มฯ ยังมีผลผลิตทางการเกษตรอีกหลายชนิด ทั้งมะม่วงมหาชนกออร์แกนิก ที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการแปรรูปผลผลิตด้วยเทคโนโลยีฟรีซดาย ทั้งมะม่วงมหาชนก สตรอเบอร์รี่ เป็นต้น ล่าสุดได้พัฒนากระเทียมดำ ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐในการพัฒนาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในปัจจุบันมีความต้องการจากลูกค้าต่างประเทศ ทั้งประเทศจีนและสิงคโปร์ รวมถึงจากลูกค้าในประเทศด้วย

พบปะผู้ประกอบการ ตลาดต้องชม ตลาดหัตถกรรมผ้าทอมือบ้านดอนหลวง หมู่ที่ 7 อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน “บ้านดอนหลวง”แห่งนี้ ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวยอง นับถือศาสนาพุทธ และใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษายอง) ในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ มีการสืบสานภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทอผ้าถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเป็นเวลากว่า 200 ปี และได้นำเอาความเป็นชาวยองนี้ออกมาเผยแพร่และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของคนบ้านดอนหลวง ทั้งภาษายอง วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิต เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อในเรื่องของผ้าฝ้ายทอมือ การทอผ้ามือจึงถือได้ว่าเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาและเป็นกิจกรรมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านดอนหลวงมาเป็นเวลานานนับร้อยๆ ปีปัจจุบันการทอผ้าฝ้ายของชาวบ้านดอนหลวงมีการพัฒนารูปแบบ สีสัน และลวดลายให้มีความทันสมัย กลายเป็นสินค้าหัตถกรรมจากผ้าฝ้ายหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าคลุมไหล่ ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง เป็นต้น อีกทั้งยังผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นแหล่งผลิตสินค้าจากผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ผ้าทอมือบ้านดอนหลวงมีรูปแบบการทอหลักๆ แบ่งเป็นสองรูปแบบคือ การทอโบราณแบบ 2 ตะกอ ลวดลายที่ได้ อาทิเช่น ลายเกล็ดเต่า ลายน้ำไหล ลายตัวหนอน และลายยกดอก อีกรูปแบบหนึ่งคือ การทอประยุกต์แบบ 3 ตะกอ 4 ตะกอ 6 ตะกอ และ 8 ตะกอ การทอผ้ารูปแบบนี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนในการพัฒนา ทำให้เกิดการพัฒนาลวดลายใหม่ๆ อาทิเช่น ลายดอกพิกุล ลายโปร่ง ลายดอกจอก และลายปุกปุย เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น