ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากน้อยแค่ไหน

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วโลก สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม มีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่สาเหตุหลักคือฮอร์โมนในเพศหญิง ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นได้หาก รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน หรือมีมะเร็งเต้านมในครอบครัว

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ผู้หญิงทุกคนควรต้องตรวจ โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง 7-10 วันหลังจากเป็นประจำเดือนวันแรก เนื่องจากคลำในขณะที่มีประจำเดือนจะทำให้เต้านมแน่น คลำหายาก

สัญญาณอันตราย
หากคลำและพบก้อนบริเวณเต้านม แม้ไม่รู้สึกเจ็บปวดก็ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจก้อนนั้นว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือมีน้ำไหลออกจากหัวนม หัวนมผิดปกติไปจากเดิมเช่น บุ๋มลึก เนื้อเต้านมที่ปกติกลับเปลี่ยนรูป ก็ควรที่จะรีบพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย หากไม่มีอาการใดๆเลย แต่อายุ 40 ปีขึ้นไปแนะนำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน หากแม่มีประวัติในการเป็นมะเร็งเต้านมควรเริ่มตรวจเร็วกว่าคนทั่วไป โดยเริ่มที่อายุที่แม่เป็นมะเร็งลบ 10 ปี

เครื่องมือในการตรวจมะเร็งเต้านมจะมีเครื่องมืออยู่ 3 เครื่องหลักๆ คือ

  • แมมโมแกรม เป็นเครื่องมือหลักในการตรวจ จะเป็นเครื่องที่ถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซเรย์ที่เป็นอันตรายน้อยมาก มีความปลอดภัย สามารถหาก้อน หินปูน ฯลฯ ได้หมด
  • อัลตราซาวด์ ไม่มีรังสี ลักษณะเด่นในการตรวจคือหาก้อนเนื้ออย่างเดียว
  • เอ็ม.อาร์.ไอ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริม ในกรณีที่ทำแมมโมแกรมกับอัลตราซาวด์แล้ว ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้

การเลือกตรวจมะเร็งเต้านม

  • ผู้ป่วยไม่มีอาการเริ่มคัดกรองที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ด้วยเครื่องแมมโมแกรม และเสริมด้วยอัลตราซาวด์
  • ผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 30 ปี จะเริ่มด้วยอัลตราซาวด์ก่อนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบจากรังสี หากอัลตราซาวด์สามารถวินิจฉัยโรคได้ก็เริ่มทำการรักษา หากอายุ 35 ปี แล้วคลำได้ก้อน จะพิจารณาว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เริ่มตรวจด้วยแมมโมแกรม 1 ครั้ง เพื่อวินิจฉัยโรค และตรวจอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 40 ปี เมื่อพบความผิดปกติของโรคจากแมมโมแกรม แพทย์จะหาชิ้นเนื้อจากการอัลตราซาวด์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจ ซึ่งการเจาะชิ้นเนื้อด้วยขั้นตอนนี้จะง่ายต่อการตรวจ

ระยะเวลาในการตรวจเพื่อทราบผล
หากคลำเจอก้อนสามารถนัดตรวจมะเร็งได้ทันที เมื่อทำแมมโมแกรม ตรวจอัลตราซาวด์ แล้วพบความผิดปกติสามารถเจาะชิ้นเนื้อให้ได้เลย โดยหากใช้เข็มเล็ก สามารถทราบผลได้ทันทีหากได้ทำในวันเดียวกันกับห้องตรวจโรคเต้านมของศัลยแพทย์ หากเจาะะชิ้นเนื้อใหญ่ จะใช้ทราบผลเวลา 5-7 วัน

ระยะของการเป็นมะเร็งเต้านม
ระยะไม่ลุกลาม เรียกว่ามะเร็งเต้านมระยะที่ 0

  • ยังไม่ลุกลามออกนอกท่อน้ำนม
  • โอกาสหายขาดมากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์
  • ผ่าตัดรักษาเป็นหลัก
  • ทานยาต้านฮอร์โมน
  • ระยะลุกลาม จะแบ่งเป็น 4 ระยะ โดยการแบ่งระยะของมะเร็งเต้านม แบ่งดูจากขนาดของมะเร็งที่กระจายไปทางต่อมน้ำเหลือง คือบริเวณรักแร้ รวมถึงอวัยวะอื่นๆในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นปอด ตับ กระดูก หรือสมอง

ระยะที่ 1-2

  • ลุกลามออกท่อน้ำนม
  • ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร และไม่มีแผลบนเต้านม
  • อาจจะกระจายไปต่อมน้ำเหลือง แต่ไม่เกิน 3 ต่อม
  • ผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก
  • เคมีบำบัด ฉายแสง (เมื่อมีข้อบ่งชี้)
  • ยาพุ่งเป้าเฉพาะ เพื่อลดโอกาสการเป็นซ้ำ
  • ยาต้านฮอร์โมน

ระยะที่ 3

  • ระยะลุกลามเฉพาะที่
  • ก้อนมะเร็งขนาดเกิน 5 เซนติเมตร หรือมีแผลร่วมด้วย
  • ต่อมน้ำเหลืองรักแร้โต ติดอวัยวะสำคัญข้างเคียง
  • ให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด
  • ฉายแสงหลังผ่าตัด
  • การรักษาอื่นๆเหมือนระยะต้น

ระยะที่4

  • แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆของร่างกาย อาทิ กระดูก ปอด ตับ สมอง
  • รักษาด้วยยาเป็นหลักทั้งเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาแบบพุ่งเป้าหลายชนิด
  • เป้าหมายของการรักษาเพื่อประคับประคอง ยืดระยะสงบของโรค ยืดอายุของผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยที่ยังคงคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วย
  • ผ่าตัดเมื่อจำเป็น เช่นก้อนมะเร็งเป็นแผลเลือดออก

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม (ระยะที่ 1-2)

  • ตัดเต้านมออกทั้งหมด เสริมเต้านมใหม่
  • ผ่าตัดสงวนเต้านม ต้องได้รับการฉายแสงด้วยเสมอ

ถึงแม้จะผ่าตัดไปแล้ว สามารถมีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำ ช่วงเวลาที่จะกลับเป็นซ้ำคือภายใน 2 ปีแรก เพราะฉะนั้นหลังจากการรักษา 2 ปีจะมีการนัดที่ถี่ เพื่อติดตามอาการ ไปจนถึง 5 ปี หลังจาก 5 ปีไปแล้วโอกาสกลับเป็นซ้ำจะน้อยลง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.พญ.ปัญจพร วงศ์มณีรุ่ง อาจารย์ประจำหน่วยระบบศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. และอ.พญ. ลลิตา ฮั่นตระกูล อาจารย์ประจำหน่วยรังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.

ร่วมแสดงความคิดเห็น