แพทย์ทหารเตือนภัย “โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ”

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่มีเชื้อ โดยสัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือแมว และโค โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ระยะตั้งแต่รับเชื้อถึงแสดงอาการอาจยาวนานตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึง 1 ปี อาการในคน คือ มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบาก เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาต เมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเสียชีวิตทุกราย

โดยเฉพาะในช่วงนี้ อากาศร้อนอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย ควรระวังตนเองและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดไม่ให้ถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน เพราะอาจได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ สำหรับโรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน และนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี
  2. ป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยหลัก “5 ย.” ได้แก่
    1. อย่าแหย่ อาจโดนกัดหรือข่วนได้
    2. อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์
    3. อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน
    4. อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน
    5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย
  3. หากถูกสุนัขหรือแมว กัด-ข่วน ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้ง อย่างเบามือ ใส่ยาฆ่าเชื้อ หรือเบตาดีนที่บาดแผลทันทีหลังล้างแผลเสร็จ จากนั้นไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และให้กักสุนัข-แมว 10 วัน เพื่อสังเกตอาการ หากสัตว์ตายให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ที่สำคัญควรฉีดวัคซีนตามแพทย์นัดให้ครบชุด

ทั้งนี้ ขอแนะนำเจ้าของสัตว์เลี้ยงว่า การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 2-4 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี ตามหน่วยบริการฉีดวัคซีนสุนัขบ้าฟรี ในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว ทั้งนี้ หากตนเองหรือคนรอบข้างถูกสุนัขหรือแมว กัด-ข่วน และมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วย ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว


คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
30 มีนาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น