โรคผมร่วงเป็นหย่อม

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ โดยสาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไปทำลายเส้นผมทำให้ผมร่วง โดยมีโรคที่อาจสัมพันธ์กับโรคผมร่วงเป็นหย่อม ได้แก่ โรคด่างขาว โรคต่อมไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ตนเองเป็นต้น นอกเหนือจากนั้น ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรค โดยพบว่าร้อยละ 20 ของผู้ป่วยมีประวัติโรคผมร่วงเป็นหย่อมในครอบครัว

ซึ่งลักษณะอาการแสดงในผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม โดยมักมีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอื่นร่วม แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อนในบริเวณที่ผมจะร่วง รอยโรคมีลักษณะผมร่วงเป็นวง ขอบเขตชัด มักเกิดบริเวณหนังศีรษะ แต่ในบางราย อาจมีขนร่วงบริเวณอื่นด้วย เช่น หนวด เครา ขนคิ้ว ขนตา ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีผมร่วงทั่วศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือผมและขนร่วงทั่วทั้งร่างกายได้ (Alopecia Universalis)

ด้านของการรักษา ในกรณีที่โรคเป็นน้อยหรือมีบริเวณที่ผมร่วงไม่กี่หย่อม สามารถรักษาด้วยการทาหรือฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์บริเวณรอยโรค โดยอาจต้องฉีดติดต่อกันจนกว่าผมจะขึ้นใหม่ และสามารถใช้ยาทา minoxidil ช่วยกระตุ้นใหม่ผมเจริญเร็วขึ้น ส่วนในกรณีที่โรคเป็นมากหรือผมร่วงทั่วศีรษะ การรักษาอาจจำเป็นต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในรูปแบบฉีดยารับประทานหรือแบบฉีดเข้ากล้าม หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะหายภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม โรคสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นโรคตั้งแต่อายุน้อย เป็นรอยโรคบริเวณกว้าง มีอาการนานกว่า 1 ปี มีประวัติครอบครัวเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมหรือมีประวัติโรคภูมิแพ้ มักจะเป็นค่อนข้างเรื้อรังและรักษายาก

ข้อมูลโดย ผศ.นพ.นภัทร โตวณะบุตร อาจารย์ประจำหน่วยวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น