งบเบี้ยสูงวัยงวด พ.ค.-มิ.ย. 11,525 ล้านบาท

โอนงบเบี้ยสูงวัยงวด พ.ค.-มิ.ย.นี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 11,525 ล้านบาท รอแจกผู้สูงอายุร่วม 8.7 ล้านคน

นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองระบุว่า กรมฯ ได้รับจัดสรรงบอุดหนุนทั่วไป โครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2565 งวดที่ 3 จำนวน 2 เดือน (พ.ค-มิ.ย.) โดยกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมี 7,547 แห่ง วงเงินทั้งสิ้น 11,525,880,000 บาท

ดังนั้นกรมฯ จึงประสานแจ้งไปยังจังหวัด แจ้งการจัดสรรงบดังกล่าวให้ อปท.ในพื้นที่รับผิดชอบ และกำชับให้ อปท.ดำเนินการ โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. พศ. 2552 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

ทั้งนี้จากการตรวจสอบรายละเอียดของทีมข่าว พบว่า แต่ละจังหวัดเฉพาะในภาคเหนือเขต 1 ที่ได้รับจัดสรรนั้น จ.เชียงใหม่ วงเงิน 375,770,200 บาท เป้าหมาย 288,997 ราย,ลำพูน 121,692,400 บาท เป้าหมาย 93,521 ราย,ลำปาง 185,298,00 บาท เป้าหมาย 141,988 ราย ,แม่ฮ่องสอน 40,964,600 บาท เป้าหมาย 31,026 ราย ในเป้าหมายทั่วประเทศ 76 จังหวัด มีผู้ได้รับตามเงื่อนไขรวมทั้งสิ้น 8,775,568 ราย โดย จ.ระนองได้รับจัดสรรน้อยสุดกว่า 27.3 ล้านบาท จากเป้าหมายที่มี 20,820 ราย

เครือข่ายผู้สูงอายุในภาคเหนือ แสดงความคิดเห็นว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน การจ่ายดำเนินการด้วยนโยบายภายใต้ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ ซึ่งการจ่ายจะเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิต ช่วงอายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาท/เดือน 70-79 ปี ได้ 700 บาท/เดือน 80-89 ปี ได้ 800 บาท 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000 บาท ซึ่งหลายภาคส่วนพยายามนำเสนอรูปแบบ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า ปรับยอดให้เหมาะสม ระหว่าง 1-3 พันบาท/เดือน ซึ่งคงต้องใช้เวลา เพราะมีข้อจำกัดด้านงบ อีกทั้งสังคมไทยเริ่มเป็นสังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุเพิ่มต่อเนื่องที่ผ่านๆ มาคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดงบสงเคราะห์ บรรเทาความเดือดร้อนเป็นระยะ ตามสถานการณ์

เช่น มติเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564 จ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับความช่วยเหลือ 100 บาทต่อเดือน มีรายได้เกิน 3หมื่น บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ช่วยเหลือ 50 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ด้านกรรมการชมรมผู้สูงอายุ ระดับหมู่บ้าน ตำบล ในพื้นที่ ลำพูนและเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กลุ่มผู้สูงอายุ จะมองเพียงมิติ การรับเบี้ยสูงวัยด้านเดียวไม่ได้ เพราะ กลุ่มที่มี บำนาญ มี รายได้เสริมอื่นๆ ยังมีการรวมกลุ่ม ขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อการช่วยเหลือ ผู้สูงอายุ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ ร่วมกับกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพชมรมผู้สูงอายุ โดยร่วมกำหนดแนวทางขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน บางพื้นที่ อาจจะมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ,สถาบันการศึษา หรือแแต่ อปท.มาร่วมผลักดันแผนชมรมผู้สูงอายุสู่แผนท้องถิ่น และแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะนำไปสู่กองทุนผู้สูงอายุ ,การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาส ให้กลุ่มนี้ มีกิจกรรม จากศักยภาพที่มี ไม่ใช่รอรับการสงเคราะห์ รับเบี้ยผู้สูงอายุ รอคอยบั้นปลายชีวิต ไปตามยถากรรมเท่านั้น

“ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้อายุ แต่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย ทั้งการสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และแก้ปัญหาหนี้สิน การพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้ คนแก่คนเฒ่า กลายเป็นภาระลูกหลาน ภาระสังคมไป ยังไปไม่ถึงไหน ซึ่งเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ ในหลายๆ แห่งที่ มีศักยภาพ ก็พยายามขับเคลื่อน ผลักดัน ในหลายๆมิติ แต่ปัญหาคือ ต่างคนต่างคิด ต่างทำ ไม่รวมพลัง อีกทั้งมุมมองที่จับจ้องไปด้านการเมืองบ้าง ผลประโยชน์บ้าง เลยทำให้กลุ่มผู้สูงอายที่มีไฟ จะอาสามาร่วมขับเคลื่อนแผนงาน พากันถอดใจ อยู่เงียบๆ ดีกว่า”

ร่วมแสดงความคิดเห็น