เชียงราย Kick Off การแก้ไขปัญหาความยากจน

อ.เมืองเชียงราย จัดกิจกรรม Kick Off การแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ รวมถึงประเด็นการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 65 นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเมืองเชียงราย (ศจพ.อ.เมืองเชียงราย) สืบเนื่องจากรัฐบาล มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ รวมถึงประเด็นการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ มีการพัฒนาคนทุกช่วงวัย อย่างบูรณาการเป็นรูปธรรมและยั่งยืนทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ

โดยใช้ข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบ เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ที่สามารถระบุสภาพปัญหาและความต้องการ จำแนกได้ตามพื้นที่และตัวบุคคลมาใช้เป็นฐานข้อมูลหลัก โดยมีกลไกการทำงานที่เชื่อมโยงจากระดับชาติ ลงไป ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล พื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกครัวเรือนเป้าหมาย จะต้องมีทีมแก้จน” เข้าไป ช่วยเหลือการทําแผนครัวเรือน แผนชีวิต อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมได้สั่งการให้ดำเนินการในระดับอำเภอ ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากสามารถ “อยู่รอด” (Survival) ได้อย่างเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไปสู่ความ “พอเพียง” (sufficiency) และเป็นการแก้ปัญหาที่ “ยั่งยืน” (sustainability) ภายในเดือนกันยายน 2565 สําหรับ จังหวัดเชียงราย มีเป้าหมาย จํานวน 42,040 คน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนนี้ จะดำเนินการตาม “เมนูแก้จน” ตามมิติความขัดสน 5 มิติ ประกอบด้วย

  1. มิติสุขภาพ : โดยดูแลครัวเรือนเป้าหมายในทุกช่วงวัย ดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อาหารการกิน ที่ถูกสุขลักษณะ การใช้ยาสามัญประจำบ้าน การมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มาให้คำแนะนำ และส่งเสริมการออกกำลัง มีสถานที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่นประจำชุมชน (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงสาธารณสุข)
  2. มิติความเป็นอยู่ : โดยการให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีที่ดินทำกินหาเลี้ยงชีพ มีน้ำดื่มน้ำใช้ ที่สะอาดและทั่วถึง รวมทั้งให้ความรู้เรื่องสุขภาวะในชุมชน (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงมหาดไทย)
  3. มิติการศึกษา : จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การศึกษาวัยก่อนเรียน การศึกษานอกระบบ การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาทางเลือก และอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองและการศึกษา ตลอดชีวิต (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงศึกษาธิการ)
  4. มิติรายได้ : มุ่งยกระดับรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 38,000 บาท/คน/ปี โดยจัดให้มีการ ฝึกอาชีพ ฝึกฝีมือแรงงาน มีอาชีพเสริม เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขจัดปัญหาหนี้นอกระบบ และส่งเสริม ช่องทางตลาดออนไลน์ (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงมหาดไทย)
  5. มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง “ทั้งหมด” ต้องไม่ตกหล่น และเข้าถึงระบบสวัสดิการแห่งรัฐ (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข)

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเมนูแก้จน ไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ และงบประมาณในขอบเขตของหน่วยงานแล้ว ทั้งนี้ ในการดำเนินงานโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน มีกรอบระยะเวลาให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น