พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเริ่มลดน้อยลง

กระทรวงเกษตรห่วงเกษตรกรบ้านปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน แหล่งผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ลดพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ส่งผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ นำร่องปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ได้ราคาสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ดร.กฤช เอี่ยมฐานนท์ เศรษฐกรเชี่ยวชาญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้ประกอบการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปลูกถั่วเหลืองของเกษตรกรบ้านปางหมู ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังการพบปะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง พบผู้ประกอบการ ด้านการเกษตรมีแนวโน้มการปลูกถั่วเหลืองภายในประเทศเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรอีกชนิดหนึ่ง มีพื้นที่ปลูกตามสัดส่วนประมาณ 17 % ของทั้งประเทศ

ดร.กฤช เอี่ยมฐานนท์ เศรษฐกรเชี่ยวชาญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ทิศทางแนวโน้มการปลูกถั่วเหลืองภายในประเทศเริ่มลดน้อยลง ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรอีกชนิดหนึ่ง มีพื้นที่ปลูกตามสัดส่วนประมาณ 17 % ของทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ก็เป็นถั่วเหลืองฤดูฝนและถั่วฤดูแล้งซึ่งกำลังเก็บเกี่ยว ในพื้นที่ ต.ปางหมู ส่วนใหญ่ผลผลิตถั่วเหลืองจะจำหน่ายเพื่อการบริโภคในพื้นที่ บางส่วนก็ส่งจำหน่ายในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับต่ำกว่าพืชทางเลือกอื่น ทำให้เป้าหมายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนแรงงานคน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกระทรวงเกษตร ทั้งโครงการแปลงใหญ่ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เครื่องมือเครื่องจักรที่มาทดแทนแรงงานคน และการจัดการ แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองท่องเที่ยวปัญหาหลักคือไฟป่า การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเปลี่ยนมาปลูกถั่วเหลืองจะช่วยสร้างรายได้ในอนาคต

นายกำธร พัฒนแก้ว นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย เปิดเผยว่า ปัญหาของผู้ประกอบการมีความต้องการถั่วเหลืองจำนวนมาก แต่เกษตรกรผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เรามีแนวคิดที่จะเข้ามาช่วยในการพัฒนาเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีความยั่งยืนมากขึ้น สมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย เป็นผู้ประกอบการทำน้ำนมถั่วเหลือง ซอส ซีอิ้ว เต้าหู้ ซึ่งความต้องการใช้ถั่วเหลืองในการแปรรูปอาหารภายในประเทศปีละ 100,000 ตัน แต่สามารถซื้อในประเทศได้เพียง 4-5 พันตันเท่านั้น ที่เหลือต้องนำเข้าจากนอกประเทศ ซึ่งถ้าเราเพิ่มผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศและขยายพื้นที่ปลูกได้ ก็จะช่วยด้านความมั่นคงให้กับผู้ผลิตด้านอาหารภายในประเทศ

ทางสมาคมจึงได้เข้ามาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำโมเดลกับผู้ปลูกถั่วเหลือง การปลูกถั่วเหลืองใน จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์พื้นเมืองถั่วตาแดง ซึ่งเป็นเกรดสกัดน้ำมันเป็นเกรดที่ราคาถูก สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจแปรรูปอาหารต้องการคือถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 เป็นพันธุ์เดียวในประเทศที่สามารถนำมาแปรรูปอาหารได้ เพราะมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 36 % ถ้าในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีศักยภาพในการปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ได้ ก็จะรับซื้อทั้งหมดในราคาประกันขั้นต่ำที่รัฐกำหนดถั่วเหลืองเกรดแปรรูปอาหารถึงพื้นที่ในราคากิโลกรัมละ 21 บาท ถ้าส่งถึงโรงงานจะรับซื้อในราคาขั้นต่ำกิโลกรัมละ 21.75 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของถั่วเหลืองด้วย หากคุณภาพดีมาก ไม่มีสิ่งเจือปนหินดินทราย ราคาก็จะเพิ่มขึ้นอีก และพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ การปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 ไม่ใช่ปัญหา แต่อาจจะเป็นเพราะดินที่เราปลูกพืชชนิดอื่นมาสภาพไม่สมบูรณ์ก็ต้องปรับปรุงบำรุงดิน

นายขจรศักดิ์ชนัน จิตภิลัย เกษตร จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า รายได้ของเกษตรกรในภาคการเกษตร ซึ่งมีพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว กระเทียม กาแฟ เป็นรายได้หลักของแม่ฮ่องสอน ส่วนถั่วเหลือง จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ปลูกในปี 64/65 จำนวน 13,331 ไร่ เกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลือง จำนวน 2,558 ราย ผลผลิตรวมประมาณ 5,290 ตัน ปลูกมากที่สุดที่ อ.แม่ลาน้อย รองลงมาที่ อ.ปาย ส่วนอำเภอเมืองมีพื้นที่ปลูกเป็นลำดับที่ 4 จาก 7 อำเภอ ประมาณ 1,359 ไร่ ปลูกมากที่สุดที่ ต.ปางหมู 721 ไร่ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของเกษตรกรขึ้นอยู่กับผลผลิต อยู่ที่ประมาณ 250 บาทต่อถัง เป็นถั่วเหลืองพันธุ์พื้นเมือง เช่น สจ.4 สจ.5 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรก็จะมานำร่องเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และมีตลาดรับซื้อราคาประกันขั้นต่ำเกรดดีที่ 21 บาท ซึ่งเกษตรกรนำร่อง เมื่อเรามีตลาดรับซื้อ เกษตรกรจะต้องพัฒนา ปรับปรุงตัวเอง หากมีการสนับสนุนทั้งพันธุ์ เครื่องไถพื้นที่ เครื่องเก็บเกี่ยว ตนเชื่อว่าผลผลิตจะสูงและทำให้เกษตรกรหันมาสนใจปลูกถั่วเหลืองเพิ่มมากขึ้น

นายนิทัศ คำบุญ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านปางหมู เปิดเผยว่า เกษตรกรนำรองในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นแนวทางที่ดีมาก เพราะที่ผ่านมากเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ปลูกตามมีตามเกิด ไม่มีทิศทาง ทำให้ผลผลิตได้น้อยไม่คุ้มทุน เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญมาส่งเสริมสนับสนุน ทั้งเมล็ดพันธุ์ งบประมาณ ตนเห็นด้วย พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ และจะเตรียมพื้นที่ เตรียมรวมกลุ่มเกษตรกรนำรองถั่วเหลืองตามที่บริษัทต้องการจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น