ข่าวปลอม! กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM

ข่าวปลอม!กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ

วันที่ 10 เม.ย. 65 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่มีข้อความเผยแพร่ในประเด็นเรื่องกด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีเตือนภัยเรื่องการเงินโดยระบุแนะนำว่าให้กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM เพื่อป้องกันการสกิมเมอร์ของมิจฉาชีพ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่า ข้อมูลดังกล่าวมีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้หลายปีและถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนอีกครั้ง โดยจากการตรวจสอบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง พบว่าไม่เป็นความจริง การกด Cancel 2 ครั้งก่อนสอดบัตร ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ กระบวนการทำงานบนระบบ ATM แต่อย่างไร
เนื่องจากสกิมเมอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จากภายนอก มีกระบวนการหลัก ๆ 2 อย่าง คือ ดักข้อมูลบัตร ATM และดักรหัสบัตร โดยการทำปุ่มกดปลอม และเครื่องอ่านบัตรปลอมขึ้นมา แล้วนำไปประกบทับกับอุปกรณ์ของจริงบนตู้  ATM โดยเครื่องอ่านบัตรปลอมจะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กบนตัวบัตร แล้วคัดลอกข้อมูลลงในหน่วยความจำ และเมื่อผู้ถือบัตร ATM ใช้เครื่องกดเงินที่มีการติดตั้งสกิมเมอร์ เพื่อทำรายการถอนเงิน ข้อมูลของบัตรนั้นจะถูกบันทึกไว้ และถูกส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพทันที ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลที่ขโมยได้ไปใช้ทำ ATM ปลอม เพื่อทำรายการถอนเงิน โดยวิธีป้องกันมิจฉาชีพที่ได้ผลคือ หมั่นสังเกตบริเวณช่องสอดบัตร และแป้นกดตัวเลขว่ามีอะไรแปลกปลอมมาครอบทับหรือไม่ หากมีสิ่งผิดปกติไปจากเดิมควรหลีกเลี่ยงและแจ้งหน่วยงานธนาคารนั้น ๆ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th  หรือโทร. 1213

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การกด Cancel 2 ครั้งก่อนสอดบัตร ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ กระบวนการทำงานบนระบบ ATM แต่อย่างไร

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น