เมษาค่าฝุ่นขนาดเล็กอาจพุ่งสูง

สสจ.เชียงใหม่ เตือน เดือนเมษาค่าฝุ่นขนาดเล็กอาจพุ่งสูง เสี่ยงต่อโรคทางจมูก เยื่อบุตา แนะสวมหน้ากากแบบ N95

วันที่ 11 เม.ย. 65 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี เป็นช่วงที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่าสูงเกินมาตรฐาน (กรมควบคุมมลพิษกำหนดค่าฝุ่นเริ่มมีผลกรทบต่อสุขภาพ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวสามารถรับทราบค่าฝุ่นได้จากเครื่องวัดของกรมควบคุมมลพิษที่รายงานในเวปไซด์ แล้วสามารถโหลด ทราบค่าฝุ่นในบริเวณที่ใกล้ตัวได้จากแอปพลิเคชันในมือถือ โดยดาวโหลด AirCMI ซึ่งสามารถบอกค่าฝุ่นในพื้นที่ทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ได้

“ความเสี่ยงในด้านสุขภาพ ระยะสั้นก็จะเกี่ยวกับโรคทางจมูก ลำคอ ทางเดินหายใจ และเยื่อบุตา ในระยะยาวก็เกี่ยวกับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สภาพปอดลดลง อาจทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด” นพ.สสจ.เชียงใหม่กล่าว

นพ.จตุชัย มณีรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงค่า PM.2.5 เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งค่า PM.2.5 ที่กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ต้องระวังมีค่าที่ 36-55 สำหรับค่า AQI ที่ต้องระวังอยู่ที่ 100 – 150 หากมีค่าสูงมากกว่านี้ก็จะส่งผลกระทบกับคนทั่วไปแล้ว และต้องหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในที่โล่ง แนะนำให้มีการสวมหน้ากากอนามัยแบบ N95 หากเป็นหน้ากากอนามัยทั่วไปควรใส่แบบสองชั้นก็สามารถช่วยได้ ถ้ามีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ และขอให้ดูแลสุขภาพตนเองและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการเหนื่อยหอบให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คสุขภาพและทำการรักษา

ทั้งนี้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีขนาดเล็กมาก ขนจมูกไม่สามารถดักจับได้ เมื่อสูดดมเข้าไปสามารถผ่านเข้าไปยังถุงลมปอด หลอดเลือดและส่วนต่างๆของร่างกาย โดยปกติแล้ว ร่างกายมีกลไกป้องกัน นอกจากได้รับปริมาณมากเกินไป เกินกว่าร่างกายสามารถทำลายได้ ส่วนผลกระทบต่อร่างกายแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

  1. ระยะสั้น เกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา จมูก คอ ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการแสบตา ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย อาจทำให้ผู้ป่วยผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคหัวใจ กำเริบหรือมีอาการรุณแรงได้
  2. ระยะยาว ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สมรรถภาพปอดลดลง โรคมะเร็งปอด

คำแนะนำ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ จะมีความไวต่ออนุภาคขนาดเล็กมากกว่าในคนทั่วไป

  1. งดออกกำลังกายนอกบ้าน หรือ กิจกรรมกลางแจ้ง
  2. หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากป้องกัน
  3. เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็น
  4. สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอกเจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

สำหรับกลุ่มอาชีพเสี่ยง ที่มีโอกาสในการรับสัมผัสฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่าคนทั่วไป เช่น ตำรวจจราจร คนขับรถสาธารณะ คนกวาดถนน พ่อค้าแม่ค้าริมทาง คนงานก่อสร้าง
1 สวมหน้ากากป้องกันและลดระยะเวลาในการสัมผัส โดยเฉพาะในช่วงเช้าตรู่รวมทั้งช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน
2 เปลี่ยนหน้ากากป้องกันทุกวัน หรือเมื่อรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก
3 ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน รวมทั้งรับประทานผัก และผลไม้ เพิ่มขึ้น
4 เมื่อกลับบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ และสระผมทันที
5 สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอกเจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

สำหรับประชาชนทั่วไป ควรปฏิบัติดังนี้
1.หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีหมอกควัน กรณีอยู่บ้านให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดอยู่เสมอ

  1. ลดระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กในบ้านโดยการงดหรือลดการสูบบุหรี่ การใช้สเปรย์ฉีดพ่น
    ในบ้าน การจุดธูปเทียน การทำอาหารด้วยเตาถ่าน ปิ้งย่าง การกวาดพื้น เป็นต้น ให้ทำความสะอาดบ้านของใช้ภายในบ้านโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาดหลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาดทำความสะอาดเพราะจะทำให้ฝุ่นกระจายมากยิ่งขึ้น
  2. ลดระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กนอกบ้าน เช่น ไม่เผาขยะ ไม่เผาป่า ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
  3. ลดกิจกรรมการใช้แรงมากๆ เช่น ออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งเวลาเช้า และบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมากเหลือเกินมาตรฐาน เพราะการออกกำลังกายจะเพิ่มการหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย 10 – 20 เท่า
    5 ผู้ที่ใช้รถยนต์ หมั่นเช็คสภาพรถยนต์ และตรวจควันดำ ลดปริมาณมลพิษจากหมอกควันภายในรถยนต์โดยการปิดหน้าต่าง และปรับระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ให้เป็นระบบใช้อากาศหมุนเวียนภายใน
    6.สังเกตุอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือวิงเวียนศรีษะ ให้รีบพบแพทย์ทันที

ห้องปลอดฝุ่น สามารถทำได้ทั้งที่บ้าน ร้านค้า และอาคารสาธารณะ ในส่วนที่พักอาศัยที่เป็นที่โล่งไม่สามารถทำห้องปลอดฝุ่นในบ้าน สามารถติดต่อขอคำแนะนำ หรือสั่งซื้ออุปกรณ์จัดทำมุ้งกรองฝุ่นในบ้านด้วยราคาหลักพัน ได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร 0 5394 2007 ต่อ 310 , 311 และ 314 หรือhttps://m.facebook.com

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือสอบถามที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง หรือตรวจประเมินสุขภาพด้วยตนเอง พร้อมขอรับคำแนะนำการดูแลสุขภาพด้วย แอฟพลิเคชั่น คลินิกมลพิษออนไลน์

ร่วมแสดงความคิดเห็น