สาเหตุอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ คือ เมาแล้วขับ

ลำพูน ระบุอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับ และขับรถย้อยศร

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมหริภุญชัย ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชจังหวัดลำพูน เป็นประธาน ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 โดยมี นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน, นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ ปลัดจังหวัดลำพูน, นายธนา นวลปลอด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ

หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดลำพูน ประจำวันที่ 16 เมษายน 2565 มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3 ครั้ง ในพื้นที่ของ อำเภอลี้ 2 ครั้ง และอำเภอบ้านโฮ่ง 1 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บจำนวน 3 ราย แบ่งเป็นชาย 2 ราย หญิง 1 ราย โดยเป็นรถมอเตอร์ไซค์ทั้ง 3 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับ และขับรถย้อยศร

สำหรับ จังหวัดลำพูนได้จัดตั้งจุดบริการประชาชน จุดตรวจร่วม หรือด่านชุมชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในทุกอำเภอของจังหวัดลำพูน มีจุดบริการประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 57 จุด ด่านชุมชน ร่วมฝ่ายปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 16 จุด และ จุดตรวจร่วม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 15 จุด

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 ขอเน้นย้ำในเรื่องของการสวมหมวกนิรภัย 100% ถือเป็นวาระของจังหวัดลำพูน รวมถึงการขับรถเร็วเกินกำหนด และการขับรถขณะเมา สุรา ทั้งนี้ให้เพิ่มความเข้มงวดของด่านชุมชน ให้มีการปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสม ตามช่วงเวลาในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละวัน โดยเน้นย้ำจุดตรวจ ด่านครอบครัวและ ด่านชุมชน สังเกตอาการของผู้ขับขี่ว่ามีความพร้อมในการขับขี่หรือไม่ รวมถึงจัดชุดจิตอาสาพระราชทาน ในพื้นที่ประจำจุดตรวจ โดยให้บริการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) โดยให้ดำเนินการตามแผนฯ อย่างเข้มข้น ประกอบด้วย

  1. ให้ประสานการรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน กรณีเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่
  2. สำรวจตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย
  3. บังคับใช้กฎหมายจราจร กฎหมายว่าด้วยเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และกฎหมายอื่น อย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง
  4. เตรียมความพร้อมของระบบการช่วยเหลือ การบริการทางการแพทย์ ระบบการติดต่อสื่อสาร การสั่งการ และการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินและดำเนินการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
  5. รณรงค์สร้างกระแสการรับรู้และสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึก และตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการขับรถที่ไม่มีวินัยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย..

ร่วมแสดงความคิดเห็น