ลงพื้นที่ แก้ไขปัญหาที่ดิน

รมว.ทส.ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่า และการพัฒนาแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร ในพื้นที่โครงการน่านแซนบ๊อกซ์ (Nan sandbox)

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 เวลา 11.00 น. ที่ ห้องประชุมส่วนจัดการต้นน้ำ (เขาน้อย) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) อ.เมืองน่าน จ.น่าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่า และการพัฒนาแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร ในพื้นที่โครงการน่านแซนบ๊อกซ์ (Nan sandbox) ตลอดจนรับฟังรายงานสรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดน่าน พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนรักษ์ที่ 13 (แพร่) นายณัฐ โก่งเกษร ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราบ และควบคุมไฟป่า นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า “ขอให้การดำเนินงานของทุกหน่วยงานเป็นไปตามกฎระเบียบ และภายใต้กฎหมายที่มี แต่ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ปัญหาของประชาชนต้องได้รับการแก้ไข ทุกคนต้องมีที่ทำกิน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาพื้นที่ป่า การดำเนินการต่าง ๆ ขอให้มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนงานอย่างเป็นระบบ และปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ให้บรรลุถึงเป้าหมาย” นอกจากนี้ยังได้ติดตามการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ทั้งระบบกระจายน้ำผิวดิน และการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล รวมถึงการดูแลนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ของจังหวัดน่าน โดยขอให้เป็นไปตามมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว การดูแลความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการเข้มงวดในการนำพลาสติกเข้ามาในเขตอุทยานฯ


โครงการน่านแซนบ๊อกซ์ (Nan sandbox) เป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน-ป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมาย และปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า โดยมีผลการดำเนินการขับเคลื่อนการจัดที่ดินให้แก่ราษฎร มีการใช้กลไกการอนุญาต อนุมัติ การใช้ประโยชน์พื้นที่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ลุ่มน้ำ 3,4,5 ก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ และ ทส.ได้ให้ความเห็นชอบครบถ้วนแล้ว จํานวน 35 พื้นที่ 41 คําขอ และกรมป่าไม้ได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว จํานวน 37 คําขอ กลุ่มที่ 2 ลุ่มน้ำ 3,4,5 หลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ได้สํารวจและจัดทํารูปแปลงแล้ว จํานวน 150,580 ไร่ โดยมีเป้าหมายการดําเนินงานปี 2565 จัดที่ดินทํากินให้ชุมชน จํานวน 208 หมู่บ้าน เนื้อที่ 65,515 ไร่ กลุ่มที่ 3 ลุ่มน้ำ 1,2 ก่อนและหลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ได้สํารวจและจัดทํารูปแปลงแล้ว จํานวน 675,684 ไร่ และจัดทําโครงการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จัดที่ดินทํากินให้ชุมชนแล้ว 156 หมู่บ้าน เนื้อท่ีรวม 134,962 ไร่ โดยมีเป้าหมายการดําเนินงานปี 2565 จัดที่ดินทํากินให้ชุมชนจำนวน 215 หมู่บ้าน เนื้อที่ 217,643 ไร่
สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน พบการเกิดจุดความร้อนในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ในห้วงเวลาเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 13.13 ซึ่งเป็นผลจากการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง ทั้งควบคุมการเผาในที่โล่ง การควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง โดยบังคับใช้กฎหมาย แสวงหาผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง มีการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้กับประชาชน รวมถึงดำเนินการจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่า นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการและกลไกการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โดยใช้เทคโนโลยีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาพถ่ายดาวเทียม การใช้ระบบ Application ต่าง ๆ ในการเสริมประสิทธิภาพการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพอากาศ รวมถึงมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานในแต่ละพื้นที่ถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านอย่างชัดเจน โดยหากมีสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ยังมีการบูรณาการหน่วยงานฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา พร้อมอุปกรณ์ เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที

ร่วมแสดงความคิดเห็น