ทานข้าวเหนียวมะม่วงยังไง ให้ร่างไม่พัง

สุดปัง! ทานข้าวเหนียวมะม่วงยังไง ให้ร่างไม่พัง (ข้าวเหนียวมะม่วง)

หลังจากที่แร็ปเปอร์หญิงชาวไทย มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ได้นำข้าวเหนียวมะม่วง เมนูที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนความเป็นไทยแต่โบราณ และเป็นที่โปรดปรานทั้งคนไทยและต่างชาติ ขึ้นมาทานระหว่างแสดงคอนเสิร์ต ในงาน Coachella 2022 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกเสียงฮือฮาให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก พร้อมกับเกิดกระแสฟีเวอร์ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลขึ้นมาทันที จนคนไทยเองรวมถึงเหล่าคนดังจากหลากหลายประเทศต่างไม่ยอมตกเทรนด์ ถ่ายรูปคู่ข้าวเหนียวมะม่วง ตามรอยความอร่อยของเมนูนี้ ส่งผลให้ยอดขายข้าวเหนียวมะม่วงสูงขึ้นมากภายในชั่วข้ามคืน ดังนั้นจึงนำข้อมูลในมุมของนักโภชนาการ ถึงเรื่องการทานข้าวเหนียวมะม่วงอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมาฝากกัน

ข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน มีคุณค่าทางโภชนาการประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

  • มะม่วงสุก 100 กรัม ให้พลังงาน 75 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 17 กรัม ไขมันและโปรตีนเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 1 กรัม
  • ข้าวเหนียวมูน 100 กรัม ให้พลังงาน 285 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 54 กรัม ไขมัน 6.3 กรัม และโปรตีน 31 กรัม
  • น้ำกะทิ (ส่วนหางกะทิ) 1 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ ผสมน้ำตาลทราย 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี่ โดยเฉลี่ยข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน ให้พลังงาน 450 กิโลแคลอรี่ (หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของข้าวเหนียวมะม่วง) เทียบเท่ากับอาหารมื้อหลัก 1 มื้อ การเลือกทานข้าวเหนียวมะม่วง ช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรเลือกเป็นมื้อว่างเช้าเวลา 10 โมง หรือ แทนมื้อกลางวัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานทำกิจกรรมต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงทานในมื้อเย็น เนื่องจากมีกิจกรรมที่ต้องทำน้อยกว่าช่วงกลางวัน พลังงานที่ได้รับเข้าไปอาจเผาผลาญและนำไปใช้ไม่หมด เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้

สำหรับคนที่สุขภาพดี ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว ทานอย่างไรจึงเหมาะสม

  • คนสุขภาพดี สามารถทานข้าวเหนียวมะม่วงได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ต้องไม่ลืมว่าข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานเทียบเท่ากับอาหารมื้อหลัก 1 มื้อเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่ทานเข้าไปด้วย
  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคไตเรื้อรัง สามารถทานข้าวเหนียวมะม่วงได้ เพียงแต่ทานในปริมาณที่เหมาะสม แนะนำให้ทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และควรลดปริมาณข้าวเหนียว และ มะม่วงสุกลงให้เหลือเพียง 50 กรัม

เทคนิคการกิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” ไม่ให้เพิ่มพุง คือ

  1. เพิ่มปริมาณมะม่วง ลดปริมาณข้าวเหนียวลง
  2. ใช้ข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวข้าวก่ำ เพราะมีกากใยและแอนตี้ออกซิแดนท์ชั้นดี
  3. ใช้กะทิธัญพืช แทนกะทิมะพร้าว เนื่องจากกะทิธัญพืช จะมีไขมันอิ่มตัว ที่ต่ำกว่ากะทิจากมะพร้าว
  4. มื้อไหนทานข้าวเหนียวมะม่วง ไม่ควรรับประทานข้าวแล้ว ให้ถือข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารมื้อหนักมื้อหนึ่ง
  5. บริโภคข้าวเหนียวมะม่วงแต่พอดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าข้าวเหนียวมะม่วงจะเป็นเมนูที่อร่อย และมีประโยชน์ หากทานมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดโทษตามมาต่อร่างกายได้

ข้อมูลโดย : คุณนฤมิตร บ้านคุ้ม นักโภชนาการ งานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(อ้างอิงข้อมูลคุณค่าโภชนาการ จาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โปรแกรมคำนวนคุณค่าสารอาหาร INMUCAL-Nutrients V.4.0 ฐานข้อมูลชุด NB. …, ประเทศไทย, 2561)

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น