คุณภาพอากาศดี ปี 65 แจงค่าต่างๆ ลดลง

คุณภาพอากาศดี ปี 65 เชียงใหม่แจงค่าต่างๆ ในทุกมิติลดลง ทั้งจุด Hot Spot ค่า PM 2.5 ลดลงกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา เผยป่าสงวนไฟไหม้มากที่สุด รองลงมาป่าอนุรักษ์

วันที่ 21 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระดับจังหวัด ครั้งที่ 4/2565 โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและรายงานควรมก้าวหน้าและผลการดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบในห้วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้ประชุมผ่านระบบซูมไปยังอำเภอทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่

ในวาระการรายงานสถานการณ์ไฟป่า และหมอกควันในปัจจุบัน และการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จ.เชียงใหม่ นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ รายงานในที่ประชุมว่า สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2565 นี้ ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มาในทุกมิติ ด้านจุดความร้อน หรือ Hotspot ปี 2565 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 2,369 จุด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปี 2564 เกิดขึ้นรวม 8,066 จุด ปี 2562 เกิด 16,871 จุด และปี 2563 เกิด 21,658 จุด ในส่วนพื้นที่เผาไหม้ หรือ Burn scar Area ปีนี้ (ข้อมูล 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 65) มีพื้นที่เผาไหม้ 355,018 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา ปี 2564 มีพื้นที่เผาไหม้ 803,494 ไร่ ปี 2562 มี 953,134 ไร่ และปี 2563 มีพื้นที่เผาไหม้ 1,384,078 ไร่

“ในส่วนของค่าคุณภาพอากาศ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm2.5 จำนวนวันที่มีค่าระหว่าง 50 – 90 มคก./ลบ.ม. ปี 2565 มี 35 วัน ลดลงกว่าปี 2564 ที่มีจำนวนวัน 68 วัน ปี 2562 จำนวน 41 วัน และปี 2563 มีจำนวน 42 วัน จำนวนวันที่ค่า Pm2.5 เกินกว่า 90 มคก./ลบ.ม. ก็ลดลงเช่นกัน โดยปี 2565 มีจำนวนวันที่มีค่าเกิน 4 วัน ลดลงกว่าปี 2564 ที่มีจำนวนวันที่เกิน 17 วัน ปี 2562 เกิน 25 วัน และปี 2563 จำนวนที่เกิน 36 วัน ส่วนวันที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานรวม ปี 2565 เกินกว่าค่ามาตรฐาน 39 วัน น้อยกว่าปี 2564 ที่เกิน 85 วัน ปี 2562 เกิน 66 วัน และปี 2563 จำนวนที่เกิน 78 วัน โดยค่า PM 2.5 สูงสุดในปี 2565 นี้มีค่าอยู่ที่ 117 มคก./ลบ.ม. เกินในวันที่ 2 มี.ค. 65 ปี 2562 ค่าอยู่ที่ 241 มคก./ลบ.ม. เกินในวันที่ 24 มี.ค. 62 ปี 2563 ค่าอยู่ที่ 360 มคก./ลบ.ม. เกินในวันที่ 29 มี.ค. 63 และปี 2564 ค่าสูงสุดอยู่ที่ 169 มคก./ลบ.ม. เกินในวันที่ 3 เม.ย. 64” นายสมคิดฯ แจง

ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ฯ รายงานอีกว่า จุดความร้อน หรือจุด Hot Spot ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 20 เม.ย. 65 ซึ่งเกิดขึ้นรวม 2,369 จุด พบว่าพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนสูงสุดเกิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,309 จุด รองลงมาเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 840 จุด เกิดในพื้นที่ สปก. 128 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น 55 จุด พื้นที่การเกษตร 32 จุด และเกิดในพื้นที่ริมทางหลวง 5 จุด

นายสมคิด ปัญญาดี รายงานต่อว่า สำหรับคำร้องขอบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่อำเภอต่างๆ ขอบริหารผ่านระบบ FireD (ไฟดี) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสนับสนุนการตัดสินใจ ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 65 มีคำร้องลงทะเบียนผ่านระบบทั้งสิ้น 10,853 รายการ จำนวน 271,424 ไร่ ได้รับการอนุมัติให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 219,227.4 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของคำร้องที่ลงทะเบียน ซึ่งได้ดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเสร็จสิ้นเกือบทั้งหมดแล้ว คงเหลือคำร้องที่รอดำเนินการอีก 283 รายการ จำนวน 1,978.7 ไร่

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผลการดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เสร็จสิ้นไปแล้วนั้น อำเภอพื้นที่ต่างๆ ได้รายงานผลการดำเนินการเข้ามาในระบบ FireD เพียง 28,304 ไร่ เท่านั้น ซึ่ง นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการในที่ประชุม ให้ทุกอำเภอที่ดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเสร็จสิ้นไปแล้วให้เร่งรายงานผลการดำเนินการเข้ามาในระบบ เพื่อจะได้ใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในปีถัดไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น