ลงพื้นที่ ส่งเสริมใช้ดาวเทียม แก้ปัญหาไฟป่า

สนง. พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ ยังเดินหน้าต่อเนื่องลงพื้นที่ภาคเหนือ ส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีดาวเทียมแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ที่จังหวัดลำปาง

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องเบญจรงค์ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ลงพื้นที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ส่งเสริมการใช้งานระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ แบบมีส่วนร่วม” ให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ และแก้ปัญหาภัยไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมมาประยุกต์ เพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในกลุ่มพื้นที่ 17 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี พิจิตร พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำพูน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนป้องกัน ควบคุม บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองในประเทศไทย

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ยังคงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญ และมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการทุ่มเทสรรพกำลัง องค์ความรู้ และทรัพยากร เพื่อควบคุมและบริหารจัดการแหล่งกำเนิดปริมาณฝุ่นละออง ไม่ให้สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และปฏิบัติงานป้องกันการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง บนหลักการ “ขยายผล พัฒนา ขจัดปัญหา” นางกานดาศรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วย ในการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านไฟป่าหมอกควันในทุกปี พร้อมพัฒนาระบบประมวลผลข้อมูลภูมิสารสนเทศจากดาวเทียม เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันอย่างทันท่วงที ทั้งด้านการวิเคราะห์ การคาดการณ์ และการรายงานผลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ตลอดจนนำข้อมูล GIS จังหวัดและข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาภัยพิบัติหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น