โครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืช

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งโครงการทหารพันธุ์ดี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้ข้าราชการและทหารกองประจำการ ที่มีความสนใจด้านการเกษตร ได้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการปลูกผักอินทรีย์ที่ปลอดภัย ซึ่งหน่วยทหารในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ดำเนินการทำเกษตรอินทรีย์, การปศุสัตว์ และการประมง เพื่อเป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไป และราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

นับเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า นั้น ทั้งนี้ กองพลทหารราบที่ 7 ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สนองพระราชดำริ โดยได้ดำเนินการจัดตั้ง โครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ตามพระราชดำริฯ ในพื้นที่ของโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 7 พฤษภาคม 2560 มีพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 28 ไร่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาพืช ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยพืชใดมีคุณสมบัติที่ดี ลักษณะที่เด่นของพ่อและแม่พันธุ์ นำมาผสมกันเพื่อสร้างพันธุ์ใหม่กับเกษตรกร ก็สามารถนำไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ได้ทันที รวมทั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปรับปรุงพันธุ์, การอนุรักษ์พันธุ์, การดูแลจัดการ, การขยายพันธุ์ และการบำรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์ ให้แก่กำลังพล, ครอบครัว, ทหารกองประจำการ, นักเรียน, นักศึกษา, เกษตรกร รวมทั้งประชาชนทั่วไป ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Learning By Doing) โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมดำเนินการ ดังนี้

  1. มูลนิธิชัยพัฒนา : รับผิดชอบงบประมาณโครงการวิจัย
  2. กองพลทหารราบที่ 7 : รับผิดชอบสนับสนุนพื้นที่ และกำลังพลปฏิบัติงาน
  3. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : รับผิดชอบดูแลงานด้านวิชาการ
  4. หน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานชลประทานที่ 1, สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 , และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ : รับผิดชอบดูแลงานตามภารกิจของหน่วย

ปัจจุบัน โครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ตามพระราชดำริฯ ได้ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ สู่การนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคต โดยการรวบรวมพันธุกรรมจากแหล่งต่างๆ นำมาปลูกตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ให้เกิดดอกและผลิตเมล็ดได้ จากนั้นดูแลรักษาพร้อมเก็บข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ ควบคุมการผสมเกษรให้เกิดการผสมตัวเองเพื่อคงสายพันธุ์เดิม และเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ คัดเมล็ดที่สมบูรณ์ เพื่อนำไปเก็บรักษาในห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนำออกมาปลูกใหม่เป็นวงรอบทุกๆ 3 ปี โดยในห้วงที่ผ่านมา ได้มีการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชผักไว้ได้ จำนวน 33 ชนิด รวบรวมพันธุกรรมไม้ดอกพื้นเมือง จำนวน 42 สายพันธุ์ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชผักพื้นเมือง จำนวน 66 ชนิด และรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพร ในงานอนุรักษ์และพัฒนาตู้ยาพืชสมุนไพรประจำบ้าน อีกจำนวน 66 ชนิด
จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพล, ความรู้ความสามารถ และยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งบูรณาการศักยภาพทางการทหารในทุกๆ ด้านของกองทัพบก เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนสืบไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
22 เมษายน 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น