แรงงานไทยได้เฮ เร่งส่งคนหางานไปขุดทอง

แรงงานไทยได้เฮเร่งส่งคนหางานไปขุดทองต่างแดน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมจัดหางาน รายงานว่า มีการประชุมมอบนโยบายด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ประจำปี 2565โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุม ซึ่ง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ 127 บริษัท ได้ร่วมหารือร่วมกัน

ทั้งนี้จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ เพราะประเทศผู้รับแรงงานบางประเทศ มีการปรับนโยบายและชะลอการรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน ปัจจุบันหลายๆประเทศเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ กระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ประมาณ 50,000 คน ไม่รวมการเดินทางในการไปทำงาน
ต่างแดนแบบอื่น

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 127 บริษัท และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในภารกิจการจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ มาร่วมหารือ รับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้การไปทำงานในต่างประเทศของ แรงงานไทยได้รับประโยชน์สูงสุด รับค่าจ้าง สวัสดิการ และการคุ้มครองที่เหมาะสม ตลอดจนป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

ในการหารือประชุมครั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.ย้ำว่า รัฐบาลมีนโยบายขยายตลาดแรงงานใหม่ในต่างประเทศ โดยปีที่ผ่านมาจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานกับซาอุดีอาระเบีย และญี่ปุ่น อยู่ระหว่างจัดทำบันทึกความร่วมมือ ตลอดจนโครงการวีซ่าเกษตรออสเตรเลีย และเสนอให้มีการจัดส่งแรงงานรูปแบบรัฐต่อรัฐ และระหว่างเอเย่นต์ ตัวแทน ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุมของกระทรวงแรงงาน กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ประเด็นสำคัญคือ จากแนวนโยบาย เร่งขยายตลาดแรงงาน ในต่างประเทศของภาครัฐฯ ปรากฎว่ามีการดำเนินการใช้สื่อโซเชียลโฆษณาเชิญชวนหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งแรงงาน,จัดหางาน ในแต่ละพื้นที่ รวมถึง ท้องที่, ผู้นำชุมชนมีความร่วมมือในการตรวจสอบและดำเนินคดีอย่างไรก็ตามกรมจัดหางานได้รับรายงานผลตรวจสอบจากหลายๆพื้นที่พบว่า มีสาย-นายหน้าเถื่อนระบาดหลอกลวงคนไทยที่ต้องการหางานในต่างประเทศผ่านระบอินเตอร์เน็ตโดยใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ต่างๆโพสต์โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก

อาทิ การเดินทางไปทำงานเกษตรในเครือรัฐออสเตรเลีย งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการหลอกลวงไปทำงานชาอุดีอาระเบียด้วยวิธีผิดกฎหมาย ซึ่งมีคนหางานหลงเชื่อทำให้สูญเงินจำนวนมาก
ขณะนี้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการใน 3 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย ด้านการป้องกัน มีการจัดอบรม/ให้ความรู้ความเข้าใจกับคนหางานผู้ถูกระงับการเดินทาง ผู้นำชุมชน บุคคล/นิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการไปทำงานต่างประเทศ และตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทจัดหางานทั่วประเทศ

เพื่อป้องกันมิให้ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางานและด้านการปราบปราม ตรวจสอบ ติดตามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน และดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมสุดท้ายจะเป็นมาตรการใน ด้านรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อ เพื่อให้คนหางานและผู้ที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจถึงขั้นตอนการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อควรระวังก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ

“ขอย้ำว่า การโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการโฆษณาการจัดหางานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6หมื่น- 2แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีข้อสงสัย หรือต้องการรายละเอียดตำแหน่งงานในต่างประเทศ ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่ง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น