วอนหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจชายแดนแม่สาย

วันที่ 24 เม.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปิดด่านพรมแดนสะพานแห่งที่ 1 แม่สาย มานานกว่า 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กระแสเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นเกิดการสะดุด คนระดับรากหญ้าที่ต้องหาเช้ากินค่ำตามแนวชายแดน แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ต้องล้มหายตายจากไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่อง เพราะคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายหรือหนี้สินกลับเพิ่มขึ้น ร้านค้าหรือบุคคลที่มีทุนทรัพย์สำรองมากพอก็คงจะสามารถประคับประคองไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่กับชาวบ้านทั่วไปก็คงทำได้แค่ต้องรอเม็ดเงินช่วยเหลือที่ทางรัฐบาลจะโยนหว่านมาให้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว

ส่วนเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ก็ประสบปัญหาเหมือนกับที่ฝั่งแม่สายเจอไม่ต่างกันมากนัก เพราะก่อนที่จะมีการปิดด่านพรมแดน ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่ง เคยข้ามไปมาเพื่อจับจ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า สร้างรายได้ให้พ่อค้าแม่ค้าทั้ง 2 ฝั่งประเทศเป็นอย่างดี แต่พอมีการปิดด่านทำให้บรรยากาศการค้าในตลาดเมืองท่าขี้เหล็กก็เงียบเหงาไม่ต่างกับฝั่งแม่สาย ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปซื้อสินค้าทางออนไลน์ ฝากส่งทางขนส่งหรือไรเดอร์ ทำให้สินค้าไปถึงปลายทางมีราคาค่อนข้างสูงขึ้น และบางครั้งอาจไม่ได้สินค้าตามความต้องการ

ผลของการปิดด่านพรมแดนสะพาน 1 กว่า 2 ปี สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจชายแดนแม่สายอย่างมหาศาล เมื่อสมัยด่านเปิดตามปกติ เฉลี่ยการเข้า-ออกวันละ 10,000-30,000 คน ต้องมีการจับจ่ายใช้เงินในอำเภอแม่สายเฉลี่ยอย่างน้อยคนละ 500 บาทรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อวัน ถ้าเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย รายละมากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันเงินหมุนเวียนในอำเภอแม่สาย ได้ข้ามหัวไปทางด่านสะพานแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นของนายทุน บริษัท ห้างร้านใหญ่นอกพื้นที่

เจ้าของกิจการในพื้นที่ อ.แม่สาย ผู้ประกอบการรายย่อยหน้าด่านพรมแดน พ่อค้าแม่ค้าตลาดสด รถเข็นขายของ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม รวมไปถึงชาวบ้านที่อยู่ จ.ท่าขี้เหล็ก ต่างเรียกร้องต้องการให้เปิดด่านสะพาน 1 แม่สาย เพื่อฟื้นฟูการค้าขายกลับมาคึกคักอีกครั้ง และมีข้อเรียกร้องของคนแม่สาย ต้องการให้นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้ลงมาดูปัญหาของชาวบ้านด้วยตนเอง ว่ามีความเดือดร้อนกันอย่างไรบ้าง จะเห็นภาพปัญหาจริงๆมากกว่าการอ่านรายงานอยู่ที่โต๊ะทำงาน เพื่อจะได้เอาปัญหาที่ได้ไปสะท้อนให้ผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานระดับสูงได้รับรู้ และกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาของชาวบ้าน 2 ฝั่งประเทศโดยเร็ว ก่อนที่ชาวบ้านจะต้องอดตายกันหมด…

ร่วมแสดงความคิดเห็น