โรคมาลาเรีย ภัยร้ายที่มาจากยุง

   วันที่ 25 เมษายนของทุกปีถือเป็น “วันมาลาเรียโลก” (World Malaria Day) จัดตั้งขึ้นโดยประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงวิธีการควบคุมและการรักษาโรคมาลาเรีย

​ โรคมาลาเรีย (Malaria) หรือโรคไข้จับสั่น เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อโรคชื่อว่าพลาสโมเดียม (Plasmodium) จัดเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญเนื่องจากก่อให้เกิดการเจ็บป่วย เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือเกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังจนทุพพลภาพได้เช่นกัน ปัจจุบันยังพบการระบาดของมาลาเรียสูงในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อน สำหรับประเทศไทยเองยังพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียเป็นประจำทุกปี โดยจะพบในพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุของมาลาเรีย
เชื้อก่อโรคมาลาเรีย เป็นเชื้อปรสิตเซลล์เดียวชื่อว่าเชื้อพลาสโมเดียว (Plasmodium spp.) ที่สามารถก่อโรคในคนได้มีด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่
• P. falciparum เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม หรือ พีเอฟ (P.f.)
• P. vivax เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ หรือ พีวี (P.v.)
• P. malariae เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ หรือ พีเอ็ม (P.m.)
• P. ovale เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล หรือ พีโอ (P.o.)
• P. knowlesi เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ หรือ พีเค (P.k.)
เชื้อพลาสโมเดียมจะมีวงจรชีวิตหลักๆ ในยุงและในสัตว์มีกระดูกสันหลัง รวมถึงมนุษย์ด้วย มีระยะฟักตัวของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ตั้งแต่ 7– 40 วัน สำหรับประเทศไทยจะพบเชื้อมาลาเรียชนิดพีวีและพีเอฟเป็นหลัก

มาลาเรียมีการติดต่อและแพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร?
เชื้อก่อโรคมาลาเรียจะมียุงก้นปล่อง (anopheline mosquito) ตัวเมียเป็นพาหะนำโรค มีหลายสายพันธุ์ มีที่อยู่อาศัยและแหล่งเพาะพันธุ์แตกต่างกัน โดยทั่วไปยุงก้นปล่องอาศัยในท้องที่ป่าเขา เนื่องจากมีแหล่งเพาะพันธุ์ที่ยุงตัวเมียใช้วางไข่ เช่น ลำห้วย ลำธารที่สะอาด มีน้ำไหลตลอด รวมถึงแหล่งน้ำขังที่มีร่มเงาในป่าเขา
เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยมาลาเรีย เชื้อจะสืบพันธุ์แล้วอาศัยอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียไปกัดคน ยุงก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อจะไปเจริญเติบโตในเซลล์ตับและเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงของโรคมาลาเรียได้

อาการของมาลาเรีย
โดยทั่วไปมาลาเรียจะมีอาการนําคล้ายกับเป็นไข้หวัดแต่ไม่มีน้ำมูก เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารร่วมด้วยได้ อาการอาจเป็นอยู่ได้เป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด เมื่อแสดงอาการของโรคไข้มาลาเรีย จะประกอบไปด้วย 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะหนาว ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ปากและตัวสั่นรุนแรง ซีด ผิวหนังแห้งหยาบ ประมาณ 15-60 นาที เป็นช่วงที่มีการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรีย
  2. ระยะร้อน ผู้ป่วยมีไข้สูง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ตัวร้อนจัด หน้าแดง กระหายน้ำ
  3. ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยมีเหงื่อออกจนเปียกชุ่ม ร่างกายอ่อนเพลียและหายไข้ กลับเหมือนคนปกติ และจับไข้ใหม่ตามอาการในข้อ 1-3 ​ผู้ป่วยบางรายจะเกิดโรคมาลาเรียชนิดรุนแรง (severe malaria) เม็ดเลือดแดงแตกแบบรุนแรงจนปัสสาวะมีสีน้ำตาลเข้มคล้ายน้ำโคล่า อวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ระบบประสาท ทำงานผิดปกติหรือล้มเหลว เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

​นอกจากนี้ผู้ป่วยมาลาเรียบางชนิด ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี โดยจะไปฝังตัวที่เซลล์ตับแล้วแบ่งตัวออกมาเป็นระยะ จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ หรือเกิดลักษณะของโรคมาลาเรียชนิดเรื้อรัง (chronic malaria) ได้เช่นกัน

การวินิจฉัยและรักษามาลาเรีย
​ การวินิจฉัยโรคมาลาเรียจะเริ่มจากมีอาการหรืออาการแสดงที่สงสัยว่าจะติดเชื้อก่อน จากนั้นจะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เช่น การดูสเมียร์เม็ดเลือดแดง การตรวจหาภูมิต้านทาน หรือใช้ชุดตรวจวินิจฉัยสำเร็จรูป เป็นต้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วก็จะเริ่มรักษาด้วยยาต้านมาลาเรียโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน โดยสูตรยาที่ใช้รักษามีทั้งแบบรับประทานซึ่งชนิดและระยะเวลาในการรับประทานยาจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อมาลาเรียที่ก่อโรค และแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำกรณีที่มีอาการรุนแรง เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนก็ให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นจนกว่าจะทุเลา ทั้งนี้ยาต้านมาลาเรียอาจมีข้อห้ามหรือข้อควรระวังในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD) เป็นต้น ดังนั้นการวินิจฉัยและรักษามาลาเรียจึงควรกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ควรหาซื้อยาต้านมาลาเรียมารับประทานเอง

การป้องกันมาลาเรีย
​ การป้องกันมาลาเรียที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้ยุงกัดในช่วงที่ยุงออกหากินตั้งแต่ย่ำค่ำจนรุ่งสางโดยเฉพาะยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรค วิธีป้องกันยุงกัดที่รู้จักกันแพร่หลายคือ การนอนในมุ้ง โดยจะเป็นมุ้งธรรมดาหรือมุ้งชุบน้ำยาไล่ยุงก็ได้ ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด เช่น เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ทายากันยุงบริเวณผิวหนังนอกเสื้อผ้าเมื่อเดินทางเข้าไปในพื้นที่แหล่งเพาะพันธุ์ของยุง เช่น ตามป่าเขา ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังตนเองให้มากยิ่งขึ้น ไม่แนะนำให้ซื้อยาต้านมาลาเรียมารับประทานเพื่อป้องกันโรค เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาได้

ข้อมูลโดย อ.นพ.ปรเมษฐ์ วินิจจะกูล อาจารย์ประะจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น