เร่งช่วยชาวสวนมะม่วง-ลำไย

เร่งช่วยชาวสวนมะม่วง-ลำไย เตรียมแผนกระจายผลผลิต หาทางแก้ปุ๋ยเคมีแพง

คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด จังหวัดลำพูน (คพจ.) เปิดเผยผลการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์การผลิต การตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดลำพูน (มะม่วง ลำไย) ปีการผลิต 2564/65ว่ามีโครงการกระจายผลผลิตมะม่วงออกนอกแหล่งผลิต

นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์ จ.ลำพูน ระบุว่าในส่วนของมะม่วงนั้น ตั้งแต่ 1 พ.ค.2565 เกษตรกรจะได้เงินเพิ่มในราคา นำตลาดจากการค้าปกติ กก.ละ 1.50 บาท ที่จุดรับซื้อมะม่วงซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 61 แห่ง จำกัดปริมาณไม่เกินรายละ 3,000 กก.ตั้งเป้า เพื่อกระจายผลผลิตมะม่วงในพื้นที่กว่า 5,000 ตัน โดยเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในพื้นที่ ต้องเตรียมทะเบียนเกษตกรหน้าแรก และหน้าระบุชนิดพืชที่เป็น
ปัจจุบัน หรือเอกสารที่สำนักงานเกษตรอำเภอรับรอง มายื่นในขณะมาขายที่จุดรับซื้อที่เข้าร่วมโครงการฯ
สำหรับ มะม่วง และลำไยนั้น เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งทางผู้ว่าราชการ จ.ลำพูน ได้กำชับให้พาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินโครงการบริหารจัดการผลไม้ ที่หลากหลายทั้งจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไป โดยตรงผ่านรถเร่ รถโมบาย และจุดจำหน่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งรวบรวมผลผลิตจากกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง ต.วังผาง ต.น้ำดิบ ต.เหล่ายาว และ ต.ศรีเตี้ย

ด้านกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไย ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า ในการดูแลผลผลิตของชาวสวนนั้น ขณะนี้ กังวลกับราคาปุ๋ยเคมีที่ มีการปรับราคาต่อเนื่อง อยากวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลเรื่องนี้ด้วย “อย่างไรก็ตามหากราคาปุ๋ยแพงมาก จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี บางสูตร อาจต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้มูลสัตว์ที่หาได้ตามท้องถิ่นแต่ต้องยอมรับว่า สูตรปุ๋ยเคมีมีผลต่อขนาดผลและการบำรุงรักษาต้น ไม่รวมสารบำรุง สารกำจัดศัตรูพืชอื่นๆที่เป็นต้นทุนผลิตของชาวสวนที่ยังจำเป็นจะต้องใช้อยู่”

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบการจำหน่ายปุ๋ยเคมี ในพื้นที่ อ.ป่าซาง ลำพูน และเชียงใหม่ พบว่าร้านจำหน่ายปุ๋ยเคมี ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เพื่อการเกษตร ยอมรับราคาที่ปรับตัวของสูตรปุ๋ยเคมี หลายๆตัว มีผลต่อราคา ซึ่งการปรับราคาต่อเนื่องจากเดิมสูตรทั่วไปอยู่ที่ตันละ 21,000 บาท พอขยับ 50-100 บาท จะส่งผลต่อราคาปุ๋ยกระสอบที่ ชาวไร่ ชาวสวนต้องแบกรับแน่นอน แต่ความต้องการของลูกค้า ที่เคยใช้ก็ยังใช้ปกติ เพราะการดูแลรักษาใส่ปุ๋ยเป็นการเร่งเพิ่มผลผลิต ซึ่งถ้าผลผลิตเพิ่มขึ้น และราคาที่จำหน่ายผลผลิตตามฤดูกาล พอเหลือบ้างก็น่าจะหักลบกับต้นทุนราคาปุ๋ยที่ขยับขึ้นไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น