ร้องสื่อ หลังอัยการแม่ฮ่องสอน ไม่สั่งฟ้องคู่กรณี

สองคนผัวเมียร้องสื่อ หลังอัยการแม่ฮ่องสอน เกียร์ว่าง สั่งไม่ฟ้องคดีคู่กรณี ต่อมาทางพนักงานสอบสวนทำเรื่องแย้ง แต่ก็ยังโยกโย้ ผู้เสียหายสอบถามไปกลับอ้างว่ายังไม่ได้รับเรื่อง ทั้งที่ทางตำรวจมีหลักฐานการส่งสำนวนไปแล้ว ส่อพิรุธช่วยเหลือคนผิด

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 นายธนโชติก์ รุ่งเหมันต์ และ นางอนงค์นาถ รุ่งเหมันต์ สองสามีภรรยา ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชน กรณี มีกลุ่มบุคคลแอบอ้างทำพินัยกรรมปลอม นำทรัพย์สินของยาย ซึ่งตนเองเป็นผู้รับมรดก ไปจำหน่ายให้กับต่างด้าวชาวพม่า ที่มีบัตรประชาชนปลอม ซึ่งตนได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และหลังจากนั้นเมื่อสืบได้ว่า มีการปลอมแปลงเอกสารพินัยกรรมปลอมเพื่อรับมรดก จึงได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน อีกครั้งเนื่องจากเหตุการณ์ปลอมพินัยกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน

ธนโชติก์ รุ่งเหมันต์

หลังจากได้แจ้งความและทางพนักงานสอบสวนทั้ง 2 สถานี ได้ยื่นสั่งฟ้องไปยัง อัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปรากฏว่าภายหลัง อัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยทางอัยการนำสำนวนของ สภ.ห้วยโป่ง ที่ไม่รัดกุมไปพิจารณา ขณะที่สำนวนของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน มีข้อมูลครบถ้วนและพร้อมด้วยประจักษ์พยานหลักฐานที่สามารถเอาผิดผู้เสียหายได้ แต่ทางอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่นำไปใช้ในการพิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อเจ้าทุกข์ผู้เสียหายแต่อย่างใด และเมื่อมีการพยายามติดต่อสอบถามความคืบหน้าของคดี ก็พยายามบ่ายเบี่ยงและอ้างว่ายังไม่ได้รับสำนวนเห็นแย้งของ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน ทั้งที่ทางพนักงานสอบสวน สภ.เมือง ฯ ได้ส่งสำนวนแย้งไปตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2565 เพื่อขอเร่งคดีในชั้นอัยการจังหวัด ให้มีคำสั่งฟ้องนางอรทัยและพรรคพวกโดยเร็ว เพราะคดีนี้ผ่านมาปีกว่าแล้ว

นายธนโชติก์ รุ่งเหมันต์ ผู้เสียหาย กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้น ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครอง , ผบ.ตร. , พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส , พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , อธิบดีกรมที่ดิน , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสื่อมวลชน และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ทางสำนักรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม ได้ทำหนังสือแจ้งตอบกลับมา ตามหนังสือ ลง 1 เมษายน 2564 อ้างถึง หนังสือของท่านฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2565 จำนวน 1 ฉบับ ตามที่ท่านได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งให้ตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ระหว่าง นายสมพล โนวรรณ และนายประดิษฐ์ เกี้ออนุกูลพงศ์ ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พนักงานสอบสวน สภ.ห้วยโป่ง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอแม่ฮ่องสอน ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม ได้รับทราบเรื่องของท่านแล้ว และได้ส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ หากมีผลความคืบหน้าเป็นประการใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแจ้งให้ท่านทราบต่อไป ลงนาม ว่าที่ ร.ต.ธนักฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ธนโชติก์ รุ่งเหมันต์

รายละเอียดในหนังสือร้องเรียนของนาย ธนโชติก์ รุ่งเหมันต์ มีดังนี้
ข้าพเจ้า นายธนโชติก์ รุ่งเหมันต์ อายุ 35 ปี อยู่บ้าน ม.8 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมรดกของ นางซื้อ โนวรรณ โดยได้รับมอบอำนาจจาก นายประดิษฐ์ เกื้ออนุกูลพงศ์ ด้วยนางซื้อ โนวรรณ เจ้าของมรดก มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือ พระทุน อนุกูล (เสียชีวิต) และนายประดิษฐ์ เกื้ออนุกูลพงศ์ และพี่น้องร่วมบิดา คือ นางคำใส รักษ์แนวเขต และนางบุญเทียน รุ่งเหมันต์ (เสียชีวิต) ซึ่งเป็นมารดาของข้าพเจ้า นางซื้ออยูกินกับนายบุญศรี โนวรรณ เมื่อปี 2506 โดยไม่มีบุตรร่วมกันและจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 8 เดือนพฤศจิกายน ปี 2521

ประดิษฐ์ เกื้ออนุกูลพงศ์

หลังจากนางซื้อเสียชีวิตลง ได้มีนางอรทัย บุญมาลา อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม เลขที่ 4/2553 ลงวันที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (พินัยกรรมเมือง) ซึ่งการเป็นผู้จัดการมรดกของนางอรทัย บุญมาลา ไม่ได้แต่งตั้งโดยศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำการยักยอกมรดกของนางซื้อไปเป็นของตน และทำการขายให้กับ น.ส.มนิฏสรา ปิติฤทธิ์ไกร ปัจจุบันใช้นามสกุล ไชยคราม เดิมเป็นบุคคลต่างด้าวเกิดที่ประเทศเมียนมา อพยพเข้ามาอย่างผิดกฏหมายพร้อมมารดาชื่อ นางเต็งละ ไม่มีชื่อสกุล น.ส.มนิฏสรา จึงถือว่าเป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับสัญชาติไทย ปัจจุบันถือบัตรประชาชนไทย หมายเลข 8580176012177 อยู่บ้านเลขที่ 100(25)/พ ม.3 ต.ห้วยโป่ง ข้าพเจ้าได้นำหมายเลขบัตรประชาชน ไปตรวจสอบที่ว่าการอำเภอหลายเขตพื้นที่ กลับไม่พบว่ามีรายชื่อนี้ในสารบบของบุคคลไทย และบัตรประชาชนระบุว่าออกให้โดยที่ว่าการอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

นางซื้อ โนวรรณ

ต่อมาข้าพเจ้าได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นางอรทัย บุญมาลาและพรรคพวกในข้อหายักยอกทรัพย์และฉ้อโกงทรัพย์ที่ สภ.ห้วยโป่ง เมื่อวันที่ 19 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ 2564 ต่อมาข้าพเจ้าได้ร้องเรียนต่อ ผกก.สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน ในวันที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ 2564 และแจ้งความที่ ส.ภ เมืองแม่ฮ่องสอน เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยโป่ง ที่สรุปให้ข้าพเจ้าว่าทรัพย์สินมรดกของ นางซื้อ ทั้งหมดได้ตกไปเป็นของวัดป่าลานแล้ว

ต่อมาข้าพเจ้าได้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อขอทำการคัดสำเนาโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส 3 ที่มีชื่อ นางซื้อ โนวรรณ ทั้งหมด ข้าพเจ้าพบว่าเมื่อวันที่ 14 เดือนมิถุนายน พ.ศ 2536 ได้มีการเพิ่มชื่อบุคคล 3 ราย คือ 1. นายขวัญแก้ว โนวรรณ 2. นายสมพล โนวรรณ 3. นางกิมเหรียญ กูนา ลงในโฉนดที่ดินเลขที่ 5539 เล่ม 56 หน้า 39 และโฉนดที่ดินเลขที่ 3696 เล่ม 37หน้า 96 โดยนายบุญศรี โนวรรณ ไม่ได้ทำพินัยกรรม และไม่พบว่ามีการขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจากศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบุคคลทั้ง 3 ไม่ใช่บุตรที่ถูกต้องตามกฏหมายของนาย บุญศรี โนวรรณ และนางละ ไม่มีชื่อสกุล เพราะนายบุญศรีไม่เคยจดทะเบียนกับนางละ และทรัพย์สินในส่วนของนายบุญศรี ต้องตกแก่นางซื้อโนวรรณ ภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมายเพียงผู้เดียว หลังจากบุคคลทั้ง 3 มีชื่อในโฉนดแล้ว ได้ทำการขับไล่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางซื้อ ไม่ให้เข้าไปทำกินในที่ดินบรรพบุรุษ ทำให้ญาติพี่น้องเสียสิทธิจนถึงปัจจุบัน

หลังจากพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแล้ว ได้มีนายอุย ซึ่งเป็นบุตรของนาย สมพล โนวรรณได้โทรติดต่อขอนัดเจรจาเพื่อคืนโฉนดที่ดินให้กับข้าพเจ้า ที่บ้านของ นายกมล พันธ์เลิศ (ผู้ใหญ่บ้านป่าลาน) ข้าพเจ้าและภรรยา รวมถึงพนักงานสอบสวนได้ลงไปที่บ้านผู้ใหญ่บ้านกลับพบว่า นางอรทัย บุญมาลา, นายขวัญแก้ว โนวรรณ ,นายสมพล โนวรรณ ,นางกิมเหรียญ กูนา, นายจำรัส บุญมาลา, นายเสถียร ขยันดี และพรรคพวกได้นำญาติพี่น้อง รวม 20 คน มาข่มขู่, ด่าทอ, กล่าวหาว่าร้ายข้าพเจ้าและญาติของนางซื้อทุกคน และไม่ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวยืนยันว่า นายสมพล โนวรรณ เป็นบุตรของนางซื้อและนายบุญศรีแต่อย่างใด รวมถึงยังอ้างว่าพวกตนสนิทสนมกับตำรวจ สภ.ห้วยโป่ง (พนักงานสอบสวนที่รับคดี) และอัยการคนหนึ่งที่ประจำอยู่ที่อัยการสูงสุด ข้าพเจ้าเกรงว่าจะถูกปองร้ายและทำร้าย จึงรีบพาภรรยากลับบ้านทันที

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนไปให้อัยการ และอัยการแจ้งแก่ข้าพเจ้าว่าจะใช้สำนวนคดีของพนักงานสอบสวนตำรวจ สภ.ห้วยโป่ง และในวันที่ 18 เดือนสิงหาคม พ.ศ 2564 ทางตำรวจ สภ.ห้วยโป่ง ได้ส่งเอกสาร แจ้งผลการดำเนินการไปที่บ้าน นายประดิษฐ์ เกื้ออนุกูลพงศ์ ว่า พนักงานเห็นว่า “ไม่สั่งฟ้อง” ทุกข้อหา ด้วยเหตุผลว่า นายสมพล เป็นบุตรของนางซื้อ โนวรรณ ทำให้ญาติไม่พอใจในการสรุปผลของพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยโป่ง ที่ว่าไม่เคยเรียกสอบปากคำทางญาติของนางซื้อทุกคน และสืบสำนวนคดีทุกขั้นตอนแล้วหรือไม่ จึงสรุปสำนวนว่านายสมพล เป็นบุตร ของนางซื้อจริง

ข้าพเจ้าได้ทำการติดตามผลที่อัยการสูงสุด ทางอัยการแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า นายสมพล โนวรรณ ซึ่งเป็นบุตรมีสิทธิในทรัพย์สินทั้งหมดของนางซื้อ ข้าพเจ้าเกิดความข้องใจจึงได้ไปขอคัดเอกสารของนาย สมพล ปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ 2535 เดิมนายสมพล ไม่มีชื่อสกุล และไม่ปรากฏ ชื่อบิดามารดา ต่อมาได้แจ้งให้เจ้าพนักงานอำเภอว่า มารดาชื่อ นางซื้อ เมื่อวันที่ 14 เดือนมิถุนายน พ.ศ 2536 ข้าพเจ้าและญาติได้ทำหนังสือขอคัดค้านคำให้การของ นายสมพล โนวรรณ เมื่อวันที่ 20 เดือนสิงหาคม พ.ศ 2564 โดยทางญาติยืนยันว่านางซื้อไม่เคยมีบุตรเพราะเคยแท้งบุตรจนต้องตัดมดลูกเมื่ออายุ 20 ปีต้นๆ ก่อนจะมาอยู่กินกับนายบุญศรี และทางอัยการแจ้งว่านางอรทัย และพรรคพวกได้ร้องเรียนไปที่อัยการเขตพื้นที่ 5 เชียงใหม่ ข้าพเจ้าจึงได้ทำหนังสือชี้แจงและขอทราบผลเมื่อวันที่ 24 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ 2564 และยังรอผลสรุปจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 14 เดือน มีนาคม พ.ศ2565 เวลา 9.30 น. ข้าพเจ้าได้เข้าไปพนักงานอัยการเพื่อขอติดตามผล พนักงานได้แจ้งข้าพเจ้าทราบว่าทางอัยการเขตพื้นที่ 5 เห็นควรไม่สั่งฟ้องและกองบังคับการตำรวจภาค 5 เห็นตามสำนวนตำรวจภูธรตำบลห้วยโป่ง และวันที่ 15 เดือน มีนาคม พ.ศ 2565 เวลา 10.30 น. ข้าพเจ้าได้ไปที่อัยการอีกครั้งเพื่อขอคัดสำนวนคดีทั้งหมด พนักงานอัยการปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลว่า ไม่พบว่ามีสำนวนอยู่ในชั้นอัยการและอ้างว่าสำนวนอยู่ที่ชั้นตำรวจจึงไม่มีให้คัดสำนวนได้

ข้าพเจ้ามีความวิตกกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีความสงสัยว่าทางพนักงานสอบสวนตำรวจภูธรตำบลห้วยโป่งตรวจสอบดีแล้วหรือไม่ หากใช้สำนวนพนักงานงานสอบสวนตำรวจภูธรตำบลห้วยโป่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยให้ปากคำใดๆหลังจากขอย้ายสำนวนมาที่ ส.ภ.เมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 1เดือนมีนาคม ปี 2564 และทางอัยการได้แนบคำร้องขอคัดค้านคำให้การของนาย สมพล โนวรรณ ที่ข้าพเจ้าและญาติของนางซื้อได้ยืนยันว่านางซื้อ ไม่เคยมีบุตร และขอให้ตรวจสอบพันธุกรรม (DNA) หรือไม่ ผลสรุปจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และทางสำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจสอบดีแล้วหรือไม่ ก่อนรับทำรายการจดบันทึกลงในเอกสารสำคัญทางราชการ รวมถึงทางสำนักทะเบียนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลรายการชื่อบิดามารดาโดยไม่ตรวจสอบหรือมีพยานยืนยันรับรองตามความจริง และการทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองโดยไม่แจ้งให้แก่ญาติของนางซื้อทราบ และพยานยังเป็นญาติของนางอรทัย บุญมาลา ทั้งสองคน รวมถึงการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยเจ้าของทรัพย์สิน ที่เป็นบุคคลที่อ่านและเขียนไม่ได้ ตามกฏหมายแล้วการเป็นผู้จัดการมรดกต้องยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเป็นผู้แต่งตั้งเท่านั้น

ข้าพเจ้ามีความประสงค์ขอให้ท่านทำการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานดังกล่าว คือ

  1. ที่ว่าการอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
  2. สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  3. ตำรวจภูธรตำบลห้วยโป่ง
  4. อัยการสูงสุดจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ข้าพเจ้าและญาติพี่น้องของนางซื้อ โนวรรณ ใคร่ขอให้ท่านมีคำสั่งให้มีการตรวจสอบพันธุ์กรรม (DNA) ระหว่างนายสมพล โนวรรณ และนายประดิษฐ์ เกื้ออนุกูลพงศ์ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางซื้อ หากผลปรากฏว่าไม่ตรงกัน ขอให้ท่านดำเนินคดีกับนายสมพล และพรรคพวกรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้ถึงที่สุด ข้าพเจ้าและญาติของนางซื้อ มีความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากท่านและเชื่อมั่นว่าท่านจะให้ความเป็นธรรมกับข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านมีคำสั่งให้ดำเนินการโดยเร็วเพราะจนถึงปัจจุบันข้าพเจ้ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด

ร่วมแสดงความคิดเห็น