ผู้สูงวัยพลัดตกหกล้ม เหตุขาดออกกำลังกาย

กรมอนามัย เผยผู้สูงอายุ ร้อยละ 60 พลัดตกหกล้ม เหตุขาดออกกำลังกาย เร่งประกาศนโยบาย ‘ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม’

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล กรมกิจการผู้สูงอายุ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกาศนโยบาย “ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม” เพื่อผลักดันนโยบาย การขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

วันนี้ (29 เมษายน 2565) นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานงานแถลงข่าวการประกาศนโยบาย “ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม” ณ บริเวณโถงอาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า ทุกๆ ปี ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือมากกว่า 3 ล้านคนพลัดตกหกล้ม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง พบว่า ผู้สูงอายุเพศหญิงมีการบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มสูงกว่าเพศชายกว่า 1.6 เท่า โดยร้อยละ 60 พลัดตกหกล้มจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน มีเพียงร้อยละ 5 ที่ตกหรือล้มจากขั้นบันได ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.) ด้านร่างกาย ทั้งการมองเห็น การเดิน การทรงตัว โรคประจำตัว 2.) ด้านพฤติกรรม คือ ขาดการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ 3.) ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นลื่นต่างระดับ บันไดไม่มีราวจับ และ 4.) ด้านจิตใจ ขาดความมั่นใจในการเดิน ซึ่งการบาดเจ็บภายหลัง การพลัดตกหกล้ม มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น อาการฟกช้ำ แผลถลอก กระดูกหัก จนถึงขั้นรุนแรง และเสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันที่สำคัญ คือ ควรมีการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง เพื่อช่วยการทรงตัว รวมทั้ง ควรมีการประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติหกล้ม

“ทั้งนี้ กรมอนามัย จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล กรมกิจการผู้สูงอายุ และสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ ด้วยการประกาศนโยบาย “ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม” โดยให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วยการเดินให้ได้อย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าว เพื่อป้องกันการหกล้ม เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทรงตัวดีขึ้น และหากมีการเดินเพิ่มมากขึ้น วันละ 7,000 – 10,000 ก้าว จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการหกล้ม สามารถใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น