หน้ากากอนามัยมีลวดลาย

ข่าวปลอม! ศธ. ห้ามนักเรียนใส่หน้ากากอนามัยแบบมีลวดลาย

วันที่ 30 เม.ย. 65 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่ได้มีข้อมูลในสื่อออนไลน์เรื่อง ศธ. ห้ามนักเรียนใส่หน้ากากอนามัยแบบมีลวดลาย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยระบุว่า ผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่งบังคับให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัยลักษณะแบบเดียวกัน สีเดียวกัน ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ไม่มีนโยบายการห้ามนักเรียนใส่หน้ากากอนามัยแบบมีลวดลายที่มาจากกระทรวงศึกษาฯ โดยสิ่งที่กระทรวงศึกษาฯ ให้ความสำคัญ คือ จุดประสงค์ของการใช้หน้ากากอนามัย นั่นคือเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั้งจากเราสู่คนอื่น และจากคนอื่นสู่เรา ขอย้ำว่านักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน สามารถใช้ได้ทั้งหน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยที่ถูกสุขอนามัยตามที่กรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงศึกษาธิการ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.moe.go.th หรือโทร. 1579

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : กระทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายห้ามนักเรียนใส่หน้ากากอนามัยแบบมีลวดลาย

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น