โครงการทหารพันธุ์ดีฯ จังหวัดพะเยา

“โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช” จังหวัดพะเยา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งโครงการทหารพันธุ์ดี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้ข้าราชการและทหารกองประจำการ ที่มีความสนใจด้านการเกษตร ได้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการปลูกผักอินทรีย์ที่ปลอดภัย ซึ่งหน่วยทหารในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ดำเนินการทำเกษตรอินทรีย์, การปศุสัตว์ และการประมง เพื่อเป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไป และราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า นั้น

ในการนี้ มณฑลทหารบกที่ 34 ได้ดำเนินการจัดตั้ง “โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช” อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้แก่ทหารกองประจำการ สู่การเป็นทหารพันธุ์ดี และเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรปลอดภัยแก่ประชาชน โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่เดือน เมษายน 2563 เป็นต้นมา มีหน่วยทหารภายในค่ายขุนเจืองธรรมิกราช เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย 1.) มณฑลทหารบกที่ 34 2.) หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 34 3.) กรมทหารราบที่ 17 4.) กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 17 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 สำหรับการดำเนินการของโครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช ในห้วงที่ผ่านมา ดังนี้

1. การเตรียมพื้นที่โครงการฯ เนื่องจากสภาพของดินในโครงการมีลักษณะเป็นดินเหนียว จึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงสภาพดินใหม่ให้เหมาะแก่การปลูกพืชผัก โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาที่ดินในการให้คำแนะนำ ตรวจสภาพดิน และมอบสารปรับสภาพดิน นอกจากนี้ ยังได้รับปุ๋ยในการบำรุงดินจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาอีกด้วย งานด้านชลประทาน ได้มีการผันน้ำจากบ่อเก็บน้ำในค่ายลงสู่พื้นที่โครงการทหารพันธุ์ดี โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 9 แรงม้า พร้อมสายยาง จากสำนักงานชลประทานจังหวัดพะเยา ดำเนินการขุดคลองไส้ไก่ทั่วบริเวณโครงการ เพื่อเก็บกักน้ำและกระจายความชุ่มชื้นให้ทั่วบริเวณ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 600 วัตต์ จำนวน 4 ชุด จากสำนักงานพลังงานจังหวัดพะเยา ในการช่วยสูบน้ำมาใช้ในแปลงผัก ปัจจุบันพื้นที่ดำเนินโครงการฯ รวม 107 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ประกอบด้วย – พื้นที่ A : เนื้อที่ 42 ไร่ – พื้นที่ B : เนื้อที่ 25ไร่

– พื้นที่ C : เนื้อที่ 40 ไร่ โดยมีกิจกรรมหลัก ในการดำเนินการโครงการฯ ดังนี้ 1. ด้านการเกษตร การทดลองปลูกผักปลอดภัย 13 ชนิด จำนวน 22 รายการ มีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 1.1 พืชระยะยาว ได้แก่ โหระพา ปลูก 5 แปลง จำนวน 330 ต้น, กระเจี๊ยบเขียว ปลูก 7 แปลง จำนวน 602 ต้น, กะเพราแดง ปลูก 6 แปลง จำนวน 512 ต้น, พริกขี้หนูพระราชทาน ปลูก 5 แปลง จำนวน 453 ต้น 1.2 พืชระยะสั้น ได้แก่ ซุ้มอุโมงค์ผัก ทดลองปลูกผัก อาทิ น้ำเต้า จำนวน 131 ต้น, บวบงู จำนวน 49 ต้น, บวบเหลี่ยม จำนวน 126 ต้น 1.3 คะน้าน่าน ปลูก 3 แปลง จำนวน 2,100 ต้น, ถั่วฝักยาวล้านนาชวนอร่อย ปลูก 3 แปลง จำนวน 550 ต้น โดยกิจกรรมเกษตรทั้งหมด ได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตร, สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา และสถาบันพัฒนาเกษตร 2. ด้านการปศุสัตว์ 2.1 การทดลองเลี้ยงเป็ดไข่บางประกง จำนวน 183 ตัว, เป็ดพันธุ์บาร์บารี่ จำนวน 25 ตัว และ ไก่กระดูกดำ จำนวน 50 ตัว โดยกรมทหารราบที่ 17 และ การทดลองเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ จำนวน 70 ตัวโดยหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 34 ทดลองเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ซึ่งหน่วยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่ประดู่หางดำ พระราชทานจากโครงการทหารพันธุ์ดี จังหวัดน่าน อายุ 1-2 เดือน จำนวน 50 ตัว และได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่ประดู่หางดำ จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย เพิ่มเติมอีกจำนวน 20 ตัว

2.2 การทดลองเลี้ยงโคขาวลำพูน จำนวน 13 ตัว โดยกรมทหารราบที่ 17
2.3 การปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อขยายผลในการทำอาหารสัตว์ลดต้นทุน โดยกิจกรรมปศุสัตว์
ได้รับการสนับสนุน, คำแนะนำ และการให้ความรู้จาก สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา
3. ด้านการประมง
3.1 การเลี้ยงปลากินพืช ในบ่อเก็บน้ำของโครงการฯ อาทิ ปลานิลจิตรลดา จำนวน 55,000 ตัว
3.2 การทดลองเลี้ยงปลาสลิดในบ่อดิน ซึ่งได้รับพระราชทานจากโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลพัฒนาที่ 3 เพื่อสร้างความรู้ ในการเพาะพันธุ์ และการเลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่จังหวัดพะเยา
3.3 การทดลองเลี้ยงกบ โดย มณฑลทหารบกที่ 34 ทดลองเลี้ยงกบ ตามโครงการเลี้ยงกบพระราชทาน มีกบ 3 สายพันธุ์ได้แก่ กบนาน่าน จากจังหวัดน่าน กบทุ่งกุลาจากสุรินทร์ และกบจานนา จากสุราษฎร์ธานี จำนวน 150 ตัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนพันธุ์กบจากศูนย์ผลิตพันธุ์กบพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” โครงการทหารพันธุ์ดีน่าน กรมทหารพรานที่ 32 ตำบลฝายแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยกิจกรรมประมง ได้รับการสนับสนุนต่างๆ, คำแนะนำ และการให้ความรู้ จากสำนักงานประมงจังหวัดพะเยา
แผนการในห้วงต่อไป ดำเนินการสร้างกระชังเลี้ยงกบเพิ่มเติม เพื่อคัดแยก พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ทั้ง 3 สายพันธุ์ ที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ และอากาศของจังหวัดพะเยา มุ่งเน้น การขยายพันธุ์ แจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ และเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้การขยายพันธุ์กบ ให้กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมแล้วสามารถนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ต่อไป
4. กิจกรรมเสริมที่สำคัญ ได้แก่
4.1 การทดลองปลูกพืชผักสมุนไพร โดย กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 17 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4
4.2 การผลิตน้ำส้มควันไม้ โดย มณฑลทหารบกที่ 34 ใช้เตาเผาน้ำส้มควันไม้ จำนวน 2 เตา ประกอบด้วย เตาเผา ขนาด 1,000 กิโลกรัม และ 400 กิโลกรัม เพื่อสนับสนุนโครงการทหารพันธุ์ดี ในการนำไปใช้ป้องกันและกำจัดโรคพืชที่เกิดจากแมลงในแปลงเพาะปลูก โดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา
ปัจจุบัน โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช ผลิตน้ำไม้ควันไม้ ได้จำนวนทั้งสิ้น 400 ลิตร (ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ)
4.3 การทดลองเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า โดยโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง มณฑลทหารบกที่ 34 ทดลองเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เพื่อสนับสนุนโครงการทหารพันธุ์ดี นำไปใช้ป้องกันและกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในแปลงเพาะปลูก ซึ่งได้รับการสนับสนุนหัวเชื้อไตรโคเดอร์ม่า พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตขยายเชื้อไตรโคเดอร์ม่า จากสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา กรมส่งเสริมการเกษตร
จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพล, ความรู้ความสามารถ และยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งบูรณาการศักยภาพทางการทหารในทุกๆ ด้านของกองทัพบก เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
5 พฤษภาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น