2 ขั้นตอนล้างตลาด กำจัดคราบ ฆ่าเชื้อโรค

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 2 ขั้นตอนล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล เพื่อลดความเสี่ยง ต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค พร้อมย้ำคุมเข้มตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างต่อเนื่อง

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้พื้นที่ในตลาดอาจเปื้อนไปด้วยคราบดิน โคลน และมีน้ำขัง ผู้ประกอบการควรมีการล้างตลาดสด เดือนละครั้ง หรือล้างบ่อยๆ เดือนละ 2-3 ครั้ง เพื่อชะล้างคราบสกปรกและช่วยสกัดเชื้อโรคได้ ซึ่งการล้างตลาด ที่ถูกหลักสุขาภิบาล มี 2 ขั้นตอนได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ล้างด้วยน้ำและผงซักฟอกเพื่อกำจัดคราบสกปรก แล้วฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนบริเวณบนแผงหรือพื้นทางเดิน แต่หากมีคราบไขมันจับให้ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงบนพื้นหรือแผงทิ้งไว้นาน 15 – 30 นาทีและใช้แปรงลวดถู เพื่อช่วยในการขจัดคราบไขมัน หรืออาจใช้น้ำหมักชีวภาพ (EM) เพื่อช่วยกำจัดไขมันและกลิ่น ทดแทนการใช้สารเคมี ขั้นตอนที่ 2 ฆ่าเชื้อโรคโดยใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีนใส่ลงในฝักบัวรดน้ำและรดบริเวณแผง เขียง ทางเดิน ทางระบายน้ำเสียให้ทั่ว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจางราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว สำหรับบริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะ และก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาดต้องทำความสะอาด โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยง ต่อการแพร่กระจายโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อได้ นอกจากนี้ ยังเน้นการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของตลาด เช่น การจัดแผงให้เป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง ไม่วางสินค้ากีดขวางทางเดิน การจัดการขยะ น้ำเสียตามหลักสุขาภิบาล เพื่อสุขอนามัยที่ดี

“ทั้งนี้ ในช่วงของการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ขอเน้นย้ำสถานประกอบการตลาด ทั่วประเทศ คุมเข้มและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 – 2 เมตร จัดระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดทำลายเชื้อทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วมให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง จัดให้มีภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิด รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อม ให้มีการระบายอากาศที่ดี ส่วนพ่อค้า แม่ค้า ผู้ปฏิบัติงานในตลาด ควรคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาด ด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากมีอาการเสี่ยงให้งดให้บริการ และตรวจ ATK ทันที ส่วนผู้รับบริการปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) ด้วย ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น