ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ปรับตัวดีขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 1/2565 ปรับตัวดีขึ้น

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยถึง“ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1/2565 และแนวโน้ม” ว่า“ภาพรวมเศรษฐกิจทุกภูมิภาคปรับดีขึ้น ทั้งภาคเหนือ อีสาน และใต้ โดยภาคเกษตรและการผลิตฟื้นตัวดีจนอยู่ในระดับที่สูงกว่า Pre-COVID-19 แล้ว ขณะที่การบริโภคและการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำกว่า หากพิจารณาในเชิงพื้นที่ ภาคเหนือและอีสานฟื้นตัวได้ดีกว่า ส่วนภาคใต้จะช้ากว่าภาคอื่นเนื่องจากพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก

ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 1/2565 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากมาตรการควบคุมโรคที่ทยอยผ่อนคลาย เพราะการระบาดของ Omicron ส่งผลกระทบน้อยกว่าระลอกก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้ครัวเรือนและตลาดแรงงานในภาคเหนือยังคงเปราะบาง และฟื้นตัวแบบ K-Shape กลุ่มที่รายได้ยังไม่กลับมาเป็นภาคบริการท่องเที่ยว และก่อสร้าง เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่รายได้ยังดีเป็นกลุ่มภาคเกษตร ลูกจ้างภาคการค้า และบริการที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น บริการสุขภาพ บุคลากรภาครัฐ และบริษัทต่างๆ เมื่อผลกระทบจากการระบาดไม่รุนแรงจึงเริ่มมีการกลับมาจับจ่ายใช้สอย (pent up demand) จากกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้ การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลง โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการปรับดีขึ้นตามภาคการท่องเที่ยว หมวดยานยนต์ปรับดีขึ้นจากปัญหาขาดแคลนรถส่งมอบทุเลาลง

อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าในชีวิตประจำวันยังคงหดตัว จากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นและกำลังซื้อกลุ่มฐานรากยังอ่อนแอ แนวโน้มการบริโภคคาดว่าทยอยฟื้นตัวได้ แต่ยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น และผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความมั่นใจเดินทางเข้ามาภาคเหนือมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและจำนวนรถยนต์ที่ผ่านเส้นทางหลวงหลักเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราเข้าพักที่ปรับดีขึ้น

ด้านธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาเปิดกิจการมากขึ้น แนวโน้มคาดว่ายังคงมี pent up demand และจะฟื้นตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านรายได้ภาคเกษตรขยายตัว และเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภค ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากอ้อยโรงงาน ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ลำไย เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาหดตัวจากราคาข้าวตามปริมาณที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มคาดว่ารายได้เกษตรขยายตัว จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่สูงกว่าปีก่อน

ขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยและน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบรายได้เกษตรกรบางส่วน ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว โดยเฉพาะหมวดอาหารตามวัตถุดิบภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับผลผลิตหมวดอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว ตามความต้องการจากประเทศคู่ค้ามีต่อเนื่อง และปัญหาการขนส่งทุเลาลง แนวโน้มคาดว่าผลผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว ยกเว้นกลุ่มเครื่องประดับที่อุปสงค์ต่างประเทศอาจลดลง การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมส่งออก และการลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้น

ด้านแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว เพราะมีความต้องการซื้อต่อเนื่องและสถาบันการเงินเริ่มกลับมาสนับสนุนสินเชื่อ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ตามรายจ่ายประจำที่ขยายตัวจากเงินอุดหนุนให้กับสถาบันการศึกษา ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างให้กับท้องถิ่น และหมวดที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดเป็นสำคัญ โดยราคาที่สูงขึ้นยังจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องไม่กระจายสู่สินค้าหมวดอื่นมากนัก และคาดว่าจะทอยกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ในปี 2566

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2565 คาดว่าทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการบริโภคและการท่องเที่ยว แต่การกระจายวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ต่อเนื่องช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น และพฤติกรรมของประชาชนที่สามารถปรับตัวอยู่กับ COVID-19 ได้ดีขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อไป

แม้สถานการณ์ COVID-19 จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ ธปท. ยังคงเน้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อให้มีการแก้ไขหนี้เดิมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน หากลูกหนี้มีปัญหาเรื่องหนี้หรือสภาพคล่อง ขอให้ติดต่อสถาบันการเงิน เพื่ออะไรขอเข้ามาตรการต่างๆ และปรับโครงสร้างหนี้ หรือเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติ ตามประเภทหนี้และความต้องการ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ ซึ่งครอบคลุมทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เพื่อให้ลูกหนี้มีดอกเบี้ยลดลง และสามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินได้ รวมทั้งการขอสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการ และการขยายวงเงินในบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

นอกจากนี้ คลินิกแก้หนี้ได้ขยายเกณฑ์คุณสมบัติ โดยผู้ที่เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 เม.ย.65 ทั้งบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการแก้หนี้ได้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/app/doctordebt/ เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213 หรือ เว็บไซต์ www.1213.or.th

สำหรับข่าวประชาสัมพันธ์ในช่วงนี้ มีประเด็นสำคัญ คือ (1) ขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังข้อความหรือเอกสารปลอม โดยการแอบอ้างชื่อหรือผู้บริหารแบงก์ชาติเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ หลอกลวงเงินจากประชาชน ซึ่งแบงก์ชาติไม่มีนโยบายในการทำธุรกรรมการเงินกับประชาชนโดยตรง (2) แบงก์ชาติได้ออกหลักเกณฑ์การปฏิบัติและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับ สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อควบคุมการคิดค่าธรรมเนียมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อ โทร. 1213 หรือเว็บไซต์ www.1213.or.th (3) ขอเชิญชวนบุคคลทั่วไปร่วมแข่งขันออกแบบนโยบายอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนา 3 ด้าน คือ การเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงิน โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น