สำรวจสินค้ารับการท่องเที่ยว ห้วยโป่ง

ทีมแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยว พลัส สำรวจและทดสอบสินค้ากิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน บ้านกลาง ตำบลห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ว่าที่ ร.ต. ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน นางสาวยุพา นาคา พาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายบัญฑิต นิลอุดมศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายภาณุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน ผู้แทนสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมลงพื้นที่สำรวจ และทดสอบ “รายการนำเที่ยวบ้านกลาง ตำบลห้วยโป่ง เก็บส้ม ชมธรรมชาติ” เพื่อเตรียมขยายผลประชาสัมพันธ์และเสนอขายสู่กลุ่มเป้าหมาย โดยกิจกรรมทดสอบสินค้าดังกล่าว จัดโดย บริษัท โลคอล อไลค์ จำกัด ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งช่ติ (NIA) สำหรับประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านห้วยโป่ง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

บ้านกลาง ตำบลห้วยโป่ง อยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที การเดินทางสะดวกเป็นทางลาดยางตลอดสาย สภาพพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นที่ราบบางส่วนและมีพื้นที่ส่วนใหญ่โอบล้อมด้วยภูเขา จึงมีภูมิทัศน์ที่สวยงามด้วยสภาพทางธรรมชาติ ขุนเขา ลำธาร

จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนของชาวไทยใหญ่ ปกาเกอะญอ และกะเหรี่ยง นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ มีประชากรประมาณ 300 กว่าคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีทำเกษตรกรรม เช่น ทำนาข้าว กระเทียม ส้ม พริก (ขี้หนูกะเหรี่ยง) ข้าวโพด โดยส่วนมากผู้คนที่นี่รับประทานข้าวจ้าวเป็นหลัก

รายการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ
1.) ชมและสักการะสิ่งศักดิ์ที่วัดบ้านกลาง ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบ และมีกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม (ฟ้อนไต) จากกลุ่มเยาวชนในชุมชนเป็นชุดต้อนรับ
2.) การผู้ข้อมูลบายศรีแบบง่าย ๆ ไม่เสียเวลา ซึ่งมีพ่อแก่แมเฒ่าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เป็นที่เคารพของคนในชุมชน
3.) ร่วมกิจกรรมการทำจักสานพัดจากตอกไม้ไผ่แบบง่าย ๆ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ได้ของที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือของตนเองกลับไปบ้าน 1 ชิ้น
4.) พาชมหมู่บ้านพร้อมเข้าสวนเก็บพืชผัก ตามฤดูกาลเพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวัน
5.) ร่วมกันประกอบอาหาร อาหารเด็ดที่นำเสนอนักท่องเที่ยวแบบขาดไม่ได้คือน้ำพริกน็อก เป็นน้ำพริกแบบไทยใหญ่ ที่ใช้วัตุดิบเป็นพริกะเหรี่ยงของชุมชน แผ่นถั่วเนา หอมแดง เกลือ เนื้อปลา นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมสนุกจากการตำน้ำพริกเอง และเป็นมื้ออาหารที่อร่อยล้ำจริง ๆ ในครั้งที่มาสำรวจครั้งนี้ มีเมนูต้มยำไก่บ้าน ยำยอดมะขาม น้ำพริกไทยใหญ่ปลาทู ไข่เจียว กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ผักสด จุดสำคัญที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้ยิ่งสร้างความสนใจให้อยากมาเที่ยวมาอุดหนุน คือการใช้ภาชนะที่ย่อยสลาสยได้ และเป็นธรรมชาติ อาทิ จานจากใบตองตึงอัดขึ้นรูป แก้วใส่น้ำดื่มจากกระบอกไม้ไผ่ ภาชนะใส่อาหารจากกระบอกไม้ไผ่
6.) ช่วงบ่ายออกเดินทางโดยรถนำเที่ยวของชุมชนแบบขับเคลื่อนสี่ล้อ พาไปชมวิวบนดอยสูง ซึ่ง เป็นสำนักปฏิบัติธรรรม ขนาดเล็ก แต่เงียบสงบเรียบง่าย มีพระจำพรรษา 1 รูป
7.) ไปชมสวนส้ม ส้มที่นี่ เป็นส้มเขียวหวานสายพันธุ์สายน้ำผึ้ง ที่มีรสชาติหวาน เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย บริเวณ สวนสวยงามร่มรื่น และเป็นระเบียบ สะอาด น่าเดินชมสวน ซึ่งมีสวนส้มหลายแห่ง ส้มของบ้านห้วยโป่ง เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมานาน และถือเป็นสินค้าทางการเกษตรที่ชาวแม่ฮ่องสอนภูมิใจนำเสนอ เพราะดำเนินการผลิตในรูปแบบเกษตรปลอดภัย มีรสชาติหวาน ผลใหญ่ เนื้อไม่ฝ่อ ผิวสวย ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจดูแลในทุกขั้นตอน
8.) ภายในสวนส้ม มีการนำอาหาร “ข้าวมูนข่วย” ของกินเล่นแบบไทใหญ่ (รูปร่างคล้ายขนมวง ทำจากแป้งข้าวเหนียว) มาสาธิตและให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองปั้นและทอด ก่อนที่จะลงมือชิมกับน้ำอ้อย หรือน้ำผึ้งแสนอร่อย
9.) กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รับประทานอาหารว่าง น้ำสมุนไพร ที่วัดบ้านกลาง พร้อมชมการแสดงชุดอำลา จากเยาวชนอีกครั้ง

ของฝากของที่ระลึกของชุมชน ประกอบด้วย

  • กระเทียม กระเทียมของแม่ฮ่องสอน เป็นกระเทียมที่มีคุณภาพดีในลำดับต้น ๆ ของประเทศ เนื่องจากมีรสจัด กลิ่นฉุน ไม่ฝ่อ เป็นที่ต้องการของตลาด
  • ถั่วเน่า เป็นอาหารของไทยใหญ่ ซึ่งนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
  • เครื่องจักสาน อาทิ กุ๊ปไต พัด เสื่อไม้ไผ่
  • พริกแห้ง (พริกกะเหรี่ยง) เก็บได้นาน มีกลิ่นหอม รสเผ็ดจัด
  • ส้มสายน้ำผึ้ง เป็นส้มเขียวหวานที่มีรสชาติหวานมากกว่าเปรี้ยว รสจัด ผลใหญ่ ผิวสวย ผลผลิตออกช่วงปลายปี
  • ไข่เค็ม ผลิตไข่เค็มตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น

สำหรับโปรแกรมรายการนำเที่ยวดังกล่าว ทางคณะฯ มีความเห็นร่วมกันว่า สามารถขายการท่องเที่ยวชุมชนได้ และทุกหน่วยงานพร้อมให้การสนับสนุนต่อยอดร่วมกับชุมชน รวมทั้ง บริษัท โลคอล อไลค์ จำกัด เนื่องจากมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงาม ประกอบกับชาวบ้านในชุมชนเป็นเจ้าบ้านที่ดีมีอัธยาศัยไมตรีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และระยะทางไม่ไกลเข้าถึงสะดวก ซึ่งนับเป็นจุดแข็งและมนต์เสน่ห์ของชุมชน แต่เนื่องจากชุมชนยังไม่เคยเปิดการท่องเที่ยวมาก่อน อาจจะต้องมีการพัฒนาเรื่องการให้ข้อมูล รวมทั้งการพัฒนาสินค้าของฝากของที่ระลึกในชุมชน การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย รวมทั้งการนำอาหารท้องถิ่นมานำเสนอขาย เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ประทับใจได้คุณค่าจากการท่องเที่ยวที่มากขึ้น รวมทั้งให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้อีกทางหนึ่งด้วย สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ กำนันเทียน 08 4948 0915, คุณวิ 09 1851 4727

ร่วมแสดงความคิดเห็น