นายกฯ ห่วงสูงวัย หนุนคัดกรองความเสื่อม 3 ด้าน

นายกฯ ห่วงสูงวัย หนุนคัดกรองความเสื่อม 3 ด้าน ‘ภาวะโภชนาการ – เคลื่อนไหวร่างกาย – สุขภาพช่องปาก’

วันนี้ (10 พฤษภาคม 2565) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมสาธิตการคัดกรองความเสื่อมร่างกาย ของผู้สูงอายุ 3 ด้าน ได้แก่ ภาวะโภชนาการ การเคลื่อนไหว และสุขภาพช่องปาก ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

ร่วมต้อนรับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการมอบของขวัญผู้สูงวัย ในวันผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2565 เพื่อให้ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดกรอง ชะลอความเสื่อม และการดูแลในภาวะพึ่งพิง ด้วยของขวัญ 3 ชิ้น ในระบบบริการสุขภาพ

โดยมีผลดำเนินงาน ดังนี้ 1.) ผลการคัดกรองความเสื่อมของร่างกาย มุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ผลการคัดกรองด้านภาวะโภชนาการ 510,463 คน คิดเป็นร้อยละ 5.3 ผลการคัดกรองการเคลื่อนไหวร่างกาย 5,800,658 คน คิดเป็นร้อยละ 60.3 และผลการคัดกรองสุขภาพช่องปาก 5,752,189 คน คิดเป็นร้อยละ 59.8 โดยจะครอบคลุมผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน 2.) โปรแกรมชะลอความเสื่อมของร่างกาย ผู้สูงอายุได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชะลอความเสื่อมของร่างกาย 54,724 คน และ 3.) การสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด ตลอดจนสนับสนุนวัสดุ ทางการแพทย์ที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับสำหรับผู้สูงอายุติดเตียง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ซึ่งนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง รวมทั้งการสนับสนุนให้บุคคลในครอบครัวมีสมรรถนะเป็นผู้บริบาลในครอบครัว (Family caregiver) ครอบคลุมผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงกว่า 5 แสนคน

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานพัฒนาระบบ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า มีตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,636 ตำบล จากทั้งหมด 7,255 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 91.47 และมีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลตาม Care Plan จำนวน 345,037 คน ดังนั้น ในปี 2565 กรมอนามัยสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยผู้บริบาลผู้สูงอายุในระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ได้แก่ ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) จำนวน 16,000 คน และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จำนวน 100,000 คน เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ดูแลตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น