ชป.1 ประชุมติดตาม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำ

ชป.1 ประชุมติดตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล พร้อมโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำ จ.แม่ฮ่องสอน

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นประธานการประชุมหารือ แผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดจนเป็นการบูรณาการแผนงานโครงการด้านแหล่งน้ำ ให้รองรับกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายวุฒิชัย รักษาสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายสายเมือง วิริยศิริ  อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)  นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 นายกตัญญู ใจชื้น ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1 ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ได้ส่งสัญญาณไปยังสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 และโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

การประชุมครั้งนี้​ สืบเนื่องจาก​สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 มีแผนงานก่อสร้างและเตรียมความพร้อมโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดลำพูน รวมถึงโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีแผนการดำเนินงาน 7 ปี​ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2572 บนพื้นที่ 3,642 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ขณะนี้กรมชลประทานอยู่ระหว่างการเตรียมขออนุญาตใช้พื้นที่ทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ

ทั้งนี้ได้มีการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลโครงการดังกล่าว ทำให้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนทั้งในด้านการสร้างอาชีพ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า เป็นต้น ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณาแผนงานด้านแหล่งน้ำภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้มีความสอดคล้องกับแผนการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านความเท่าเทียม (ตามหลักโครงสร้างพื้นฐาน) ด้านการส่งเสริมรายได้ และด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับกรมชลประทานได้จัดทำโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎร และลดผลกระทบด้านต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินโครงการต่างๆ ได้ตามแผนงาน 

ร่วมแสดงความคิดเห็น