ปภ.แนะเลือกเบาะนั่งนิรภัยเหมาะสมกับเด็ก

ปภ.แนะเลือกเบาะนั่งนิรภัยเหมาะสมกับเด็ก- ใช้งานถูกวิธี

เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยยึดเหนี่ยวลำตัวเด็กมิให้พุ่งกระแทกคอนโซลรถ อุปกรณ์อื่นภายในรถหรือกระเด็นออกนอกรถเมื่อประสบอุบัติเหตุหรือเบรกอย่างรุนแรง จึงช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรรู้ในการเลือกและใช้งานเบาะนิรภัยอย่างถูกวิธี ดังนี้


ประเภทของเบาะนั่งนิรภัย
เบาะนั่งนิรภัยแบบเปลเด็กอ่อน (Infant Carrier Seats) เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน เด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 9 กิโลกรัม เด็กต้องมีความสูงไม่เกิน 66 เซนติเมตร ติดตั้งเบาะหลังรถ โดยให้หันไปด้านหลังรถ
เบาะนั่งนิรภัยแบบหันไปด้านหลัง (Rear – Facing Convertible Seats) เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี เด็กต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 13.6 กิโลกรัม ติดตั้งเบาะหลังรถ โดยให้หันไปด้านหลังรถ ศีรษะเด็กกับขอบเบาะต้องมีระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว เบาะนั่งนิรภัยแบบหันไปด้านหน้ารถ (Forward Facing Seats) เหมาะสำหรับเด็กอายุประมาณ 1 – 5 ขวบ ต้องมีน้ำหนักตั้งแต่ไม่เกิน 18.5 กิโลกรัม ติดตั้งไว้บริเวณเบาะหลัง โดยหันไปด้านหน้ารถ ไหล่ของเด็กต้องอยู่ต่ำกว่าช่องเข็มขัดของเบาะนิรภัย เบาะนั่งนิรภัยแบบเบาะเสริม (Booster) เหมาะสำหรับเด็กอายุประมาณ 4 – 8 ขวบ เด็กต้องมีน้ำหนัก 18 – 28 กิโลกรัม เด็กต้องมีความสูงประมาณ 142 เซนติเมตร มีเบาะเสริมและพนักพิงหลังที่ช่วยยกลำตัวเด็ก ให้สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งมากับรถ


การเลือกเบาะนั่งให้เหมาะสม
เลือกใช้เบาะนั่งนิรภัยให้เหมาะสม ทั้งวัย รูปร่าง น้ำหนัก และส่วนสูงของเด็ก ลักษณะของรถและตำแหน่งที่ติดตั้ง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เลือกใช้เบาะนั่งนิรภัยที่ได้มาตรฐาน มีโครงสร้างแข็งแรง ตัวล็อกแน่นหนา ถอดสะดวก และเนื้อผ้าไม่ระคายเคืองต่อผิวเด็ก

เลือกใช้เบาะนั่งนิรภัยที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ มีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 ปี นับจากวันผลิต เนื่องจากเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายน้อยกว่า รวมถึงมีประสิทธิภาพสูงในการยึดเหนี่ยวและปกป้องเด็กจากอุบัติเหตุ
ไม่นำเบะนั่งนิรภัยที่เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงมาใช้งาน เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการยึดเหนี่ยวลำตัวเด็ก จึงไม่สามารถปกป้องเด็กได้เมื่อประสบอุบัติเหตุ

กรณีนำเบาะนั่งนิรภัยมือสองมาใช้งาน ให้ตรวจสอบโครงสร้างเบาะไม่ให้มีรอยแตกหัก หรือรอยร้าว รวมถึงมีอุปกรณ์ส่วนประกอบครบทุกชิ้น เพราะวัสดุของเบาะนั่งนิรภัยอาจเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการใช้งานลดลง


การติดตั้งเบาะนั่งนิรภัย
ติดตั้งนั่งเบาะนิรภัยให้ถูกวิธี โดยศึกษาจากคู่มือการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำ เนื่องจากวิธีติดตั้งจะแตกต่างกัน ตามลักษณะของรถและประเภทของเบาะนั่งนิรภัย ตรวจสอบการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัย เมื่อลองขยับเบาะนั่งนิรภัยจะเคลื่อนไปในทุกทิศทางได้ไม่เกิน 1 นิ้ว ยึดติดเบาะนั่งนิรภัยไว้ที่เบาะหลังรถ โดยกดเบาะนั่งนิรภัยให้แนบชิดกับเบาะรถและพนักพิงหลัง พร้อมสอดเข็มขัดนิรภัยและกดล็อกให้แน่นหนาทุกจุด
ไม่ติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยบริเวณเบาะหน้ารถ เพราะหากประสบอุบัติเหตุ เด็กอาจได้รับอันตรายจากการทำงานของถุงลมนิรภัย

การใช้งานเบาะนั่งนิรภัยอย่างปลอดภัย
ปรับสายเข็มขัดนิรภัยในระดับที่เหมาะสม โดยไหล่ของเด็กต้องอยู่ต่ำกว่าช่องเข็มขัดนิรภัย และสามารถคาดเข็มขัดได้กระชับกับลำตัวเด็ก คาดเข็มขัดนิรภัยของเบาะนั่งนิรภัยให้กระชับ หากประสบอุบัติเหตุ จะช่วยยึดลำตัวเด็กไม่ให้สะบัดทำให้กระดูกต้นคอหัก


ข้อควรระวังในการใช้งานเบาะนั่งนิรภัย
ห้ามวางสิ่งของไว้กับเด็กขณะนั่งเบาะนั่งนิรภัย เพราะหากประสบอุบัติเหตุ เข็มขัดนิรภัยอาจทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ และเด็กอาจได้รับอันตรายจากสิ่งของพุ่งกระแทก ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กนั่งเบาะนั่งนิรภัยตามลำพัง เนื่องจากสายเข็มขัดนิรภัยอาจรัดคอเด็ก ทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต

ทั้งนี้ การเลือกใช้เบาะนั่งนิรภัยที่ได้มาตรฐานเหมาะสมกับวัยและรูปร่างของเด็ก รวมถึงติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยและจัดให้เด็กนั่งเบาะนั่งนิรภัยอย่างถูกวิธี จะช่วยปกป้องเด็กไม่ให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตกรณีประสบอุบัติเหตุ

ร่วมแสดงความคิดเห็น