(มีคลิป) สสว.ประชุมระดมความคิดเห็น “SME Coach” 65

“SME Coach” เสริมเขี้ยวเล็บให้โค้ช ใช้ดาต้าพัฒนาระบบวิเคราะห์ธุรกิจ แก้ 4 ปัญหาเอสเอ็มอีเผชิญ ทั้ง “หนี้เพิ่ม-รายได้ลด-ต้นทุนสูง-เปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่” หลังยุคโควิดที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัว

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30-15.30 น. ที่ โรงแรมอโมร่า ท่าแพ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นางลักขณา  ตั้งจิตนบ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวเปิดกิจกรรม ประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) “SME Coach” ประจำปี 2565 ภายใต้ กิจกรรมพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลที่ปรึกษาและระบบ Coach Online โดยมี นายวรงค์ ยมาภัย รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาพื้นฐานธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (ISMED) นำเสนอข้อมูลดำเนินกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำในโครงการ ปี 2563-2564

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า กิจกรรมพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลที่ปรึกษาและระบบเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ (Coach Online) เป็นมาตรการของ สสว. ที่มุ่งมั่นพัฒนาโค้ชหรือที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีความพร้อมและสามารถพัฒนาธุรกิจ พร้อมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันกับทุกการเปลี่ยนแปลง ผ่านระบบเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ หรือบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ผ่านโค้ชหรือที่ปรึกษาด้านธุรกิจมืออาชีพ ที่ทาง สสว.รวบรวมไว้กว่า 4,000 รายในทุกสาขาความรู้ ซึ่งในปีนี้ สสว. เร่งเครื่องเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ ผ่านระบบออนไลน์แบบเต็มพิกัดทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า การผลักดันให้ระบบเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ สามารถตอบสนองและแก้ปัญหาที่เอสเอ็มอีต้องการอย่างรวดเร็วและทำได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงต้องเสริมและติดอาวุธด้านเครื่องมือวินิจฉัยธุรกิจและทางเลือกในการเสนอวิธีแก้ปัญหาด้านต่างๆ ให้แก่โค้ชทั่วประเทศที่อยู่บนระบบสามารถนำไปประยุกต์ใช้

“โครงการจึงนำฐานข้อมูลในระบบย้อนหลังของการวินิจฉัย วิธีการแก้ไขด้านธุรกิจกว่า 1,000 ราย มาวิเคราะห์และจัดทำเป็นระบบ และนำผู้เชี่ยวชาญหรือโค้ชที่ปรึกษาธุรกิจที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาตรวจสอบ และร่วมวางกรอบแนวทาง การวินิจฉัย และวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะทางนั้นๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการแก้ 4 ปัญหาเอสเอ็มอีเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทั้งปัญหาหนี้เพิ่ม ปัญหารายได้ลด ปัญหาเรื่องต้นทุนสูง รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่
หลังยุคโควิดที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัว”

ผอ. สสว. เผยอีกว่า นอกจากนี้โครงการจะมีการจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้กับโค้ช และหน่วยงานในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 จังหวัดสงขลา วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 และ กรุงเทพมหานคร วันที่ 25 พฤษภาคม2565 ปัจจุบันโครงการฯ มีจำนวนโค้ชในระบบ 4,000 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีสาขาความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และพร้อมจะให้บริการปรึกษาแนะนำ ชี้แนะกลยุทธ์ธุรกิจแก่เอสเอ็มอี ได้ทั้งในสถานประกอบการและบนออนไลน์
เพื่อการส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจและหรือสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น