ขาเม้าท์ระวัง! นินทามีความผิด ฐาน ‘หมิ่นประมาท’

ขาเมาท์โปรดระวัง!! นินทานินทาผู้อื่นลับหลังสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น มีความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’ เพราะ กฏหมายไม่อยากให้คนนินทากันลับหลัง

คำพูดเป็นดาบสองคม ถ้าไม่ระวังเม้าท์มอยคุยสนุกปากเกินไป จนไปพาดพิงส่งผลกระทบผู้อื่นให้เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริง หรือไม่จริง

จากข้อมูลสำนักงานกิจการยุติธรรม รายงานว่า “การนินทาเป็นความผิด” เพราะกฎหมายไม่ต้องการให้ประชาชนนินทาคนอื่นลับหลัง เนื่องจากการนินทานั้น แม้เป็นความจริง แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญแก่บ้านเมือง การนินทานั้น ก็อาจเป็นเหตุแห่งความแตกแยก

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดูประมวลกฏหมายอาญาเพิ่มเติมได้ที่ หมวด 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการนินทาที่ได้รับข้อยกเว้น โดย ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ ผู้พิพากษา ให้ข้อมูลว่า หากการนินทาใส่ร้ายนั้นเป็นความจริง เป็นประโยชน์แก่การปกครองประเทศ ประชาชนย่อมมีสิทธินินทาได้ เพราะเป็นสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น (right to expression) กฎหมายจึงกำหนดให้เป็นข้อยกเว้นไว้ให้พูดใส่ร้ายกรณีนี้ได้โดยไม่เป็นความผิด

” เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ หรือหลักสิทธิมนุษยชนก็ดี.. มีขอบเขตและหลักเกณฑ์เหมือนกัน คือ การใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดนั้น ต้องไม่ทำผิดต่อกฎหมาย และต้องไม่มี hate speech เช่น คำพูดที่ทำให้เกิดความรุนแรง ยุยงให้ทำลายล้าง เกลียดชังกัน แม้เราจะมีเสรีภาพในการพูดและเเสดงความเห็น แต่จะต้องไม่เป็นความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ และต้องไม่ผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’ นั่นเอง ”

ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์

โดยมีข้อยกเว้น “หมิ่นประมาท” ใน 3 กรณีใหญ่ๆ คือ

1.พูดเพื่อป้องกันสิทธิโดยชอบธรรมและสุจริต คือ ถ้าไม่พูดตนเองจะเสียหาย
เช่น ก. เห็นข. ขโมยเงินของตน จึงไปแจ้งกำนันว่า ข. ลักทรัพย์ แบบนี้ ก. ไม่ผิด..

2.ติชมโดยสุจริตและเป็นธรรม ในฐานะของประชาชน มักเป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับสื่อ หรือบุคคลสาธารณะ
เช่น ดารา นักร้อง นางงาม นักการเมือง เช่น “นักร้องคนนี้น้ำเสียงแย่มาก หรือ ดาราคนนี้หน้าตาน่าเกลียด” หรือ “นักการเมืองคนนี้พูดจาไม่น่าเชื่อถือ หรือ สื่อฉบับนี้เลือกข้าง” แบบนี้ ประชาชนที่นินทา ไม่ผิด..

3.พิสูจน์ได้ว่า ที่ใส่ความนั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นความจริง และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว กรณีนี้ ผู้เสียหายมักเป็น บุคคลที่มีส่วนได้เสียต่อประโยชน์ของชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี อธิบดี นักการเมือง ”นายกฯ ส.ส. อธิบดี คนนี้โกงชาติ หรือทุจริต” คนที่ใส่ความอาจเป็นสื่อมวลชน หรือเป็นคนธรรมดาก็ได้ เมื่อใส่ความไปแล้ว และถูกฟ้อง ศาลอาจยอมให้เขาพิสูจน์ได้ ถ้าข้อกล่าวหานั้นเป็นความจริง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของประเทศ ถือว่าไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ที่จะไม่เป็นประโยชน์ แม้จะเป็นความจริง ศาลก็ไม่ให้พิสูจน์ คนพูดต้องรับโทษ.. ไม่ว่าคนพูดเป็นคนธรรมดา หรือสื่อก็ตาม

ขอบคุณข้อมูล : ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ / สำนักงานกิจการยุติธรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น