เหรียญ 1 บาทใช้จ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 500 เหรียญ

ข่าวจริง!เหรียญ 1 บาทใช้จ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 500 เหรียญ จ่ายเกินกฎหมายกำหนดผู้รับมีสิทธิ์ปฏิเสธได้

วันที่ 22 พ.ค. 65 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวจริง เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเหรียญ 1 บาทใช้จ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 500 เหรียญ จ่ายเกินกฎหมายกำหนดผู้รับมีสิทธิ์ปฏิเสธได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

ตามกฎหมายได้กำหนดให้เหรียญ 1 บาท ใช้ชำระหนี้ได้ในจำนวนคราวละไม่เกิน 500 บาท
ยังมีเรื่องการชำระหนี้ด้วย “เหรียญกษาปณ์” จะสามารถใช้เหรียญชำระหนี้ได้คราวละไม่เกินเท่าไร
– เหรียญ 25 หรือ 50 สตางค์ ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 10 บาท
– เหรียญ 1 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
– เหรียญ 2 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
– เหรียญ 5 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
– เหรียญ 10 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 1,000 บาท

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการกำหนดจำนวนเหรียญที่ใช้ชำระแต่ละครั้งตามข้างต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกันซึ่งหากมีการใช้เหรียญชำระหนี้ต่างๆ ในจำนวนที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด ผู้รับมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธโดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย

ในกรณีที่ออมเงินไว้เป็นเงินเหรียญจำนวนมาก สามารถ “ฝากเงิน” ที่ธนาคารต่างๆ ก่อนถอนออกมาชำระหนี้ หรือชำระหนี้กับธนาคารได้โดยตรง โดยอาจมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละธนาคาร นอกการฝากเงินด้วยเหรียญ หรือชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ธนาคารแล้ว ยังมีช่องทางของ “กรมธนารักษ์” https://www.treasury.go.th/th/coin-contact/ หรือโทรศัพท์ติดต่อ : 02-834-8300 ในกรณีที่มีเหรียญจำนวนมาก สามารถติดต่อขอแลกเหรียญได้ที่ สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.egov.go.th/th/government-agency/213/ หรือโทร. 02-141 3754

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เหรียญ 1 บาทใช้จ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 500 เหรียญ จ่ายเกินกฎหมายกำหนดผู้รับมีสิทธิ์ปฏิเสธได้

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น