ประตู กำแพงเมืองเชียงใหม่

เชียงใหม่นิวส์ ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ขอนำเรื่องราว ประตูและกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้น มีการปรากฎหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า กำแพงเมือง คูเมือง และประตูเมือง สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเชียงใหม่

แต่มีการบูรณะซ่อมแซมต่อมาอีก หลายสมัย เมื่อพญามังรายโปรดให้สร้างเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พระองค์ โปรดให้สร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 900 วา ยาว 1000 วา และโปรดให้ขุดคูรอบเวียง เข้าใจว่ากำแพงเมืองในสมัยนี้ยังเป็นกำแพงที่ทำด้วยดิน เนื่องจากการสร้าง กำแพงด้วยอิฐนั้นมีหลักฐานว่า สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว ที่พระองค์โปรดให้ ปั้นดิน จักก่อเมฆเวียงเชียงใหม่ 2 และในสมัยพระเจ้ากาวิละ เมื่อพระองค์กลับมาซ่อมแซม เมืองเชียงใหม่ ทรงโปรดให้ สร้างแปลงเวียงก่อเมกปราการ กำแพงเชิงเทน หอป้อมบานประตูซึ่งแน่นหนา มั่นคง ขุดร่องคือเอาน้ำเข้า เพื่อให้เป็นที่เข้มแข็งทนทาน ในการป้องกันข้าศึก ซึ่งในแต่ละประตูจะมีข้อมูล เชียงใหม่นิวส์ ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ขอนำเสนอดังนี้

1. ประตูเชียงใหม่
ประตูเชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นประตูมงคลของบ้านเมือง เป็นประตูที่ใช้เป็นเส้นทางในการเดินทาง ระหว่างเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน

2. ประตูสวนดอก
ประตูสวนดอก ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของเมือง(ด้านขวา) ที่ได้ชื่อว่าสวนดอกนั้นก็เพราะพระชายาของพระยากือนา ชื่นชอบการทำสวนดอกไม้บริเวณนั้นมากมาย

3. ประตูสวนปรุง ประตูสวนปรุง เดิมชื่อประตูแสนปรุง ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคาร (เจดีย์หลวง) ขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนี ที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักสวนแร (ทิพย์เนตร) นอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ต่อมาเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ใช้ประหารนักโทษ ใช้หอกหลาวทิ่มแทงปุง (พุง) ชาวบ้านจึงเรียกว่าประตูสวนปุง หรือ ประตูแสนปุง นับแต่อดีต เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

4. ประตูท่าแพ
ประตูท่าแพ เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง(ด้านซ้าย) ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่ ประตูนี้เปรียบเสมือนแขน ขา เป็นประตูทางผ่านของเจ้าในสมัยนั้น และเป็นจุดค้าขาย แลกเปลี่ยนข้าวของ

5.ประตูช้างเผือก
ประตูช้างเผือก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นจุดรวมไพร่พลเพื่อเตรียมสู้รบยามเกิดศึกสงคราม สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาพิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น

ขอบคุณ : เพจ เชียงใหม่ไกด์

ร่วมแสดงความคิดเห็น