ม.แม่โจ้ เพาะเห็ดถอบในดิน ใช้ปุ๋ยมูลช้าง

นักวิจัย ม.แม่โจ้ ร่วมกับ ปางช้างแม่สา ต่อยอดปุ๋ยพลังช้าง “คชาภัณฑ์” เพิ่มพลังดินปุ๋ยเม็ดมีเชื้อเห็ดในตัวเพาะกินได้จริง เห็ดถอบกำลังทดลองเพาะอยู่

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.65 ที่โรงปุ๋ยปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา ให้การต้อนรับ ดร.สุมิตร อธิพรหม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ พร้อมคณะฯ นายทวีศักดิ์ อ่องศิริกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทั้งหมดมาสาธิตพร้อมให้ความรู้จากการทำปุ๋ยสูตรต่างๆ โดยเฉพาะการเพาะเห็ดป่า เห็ดสวน เห็ดเพาะที่เพาะขายทั่วไป โดยการนำเชื้อเห็ดผสมกับปุ๋ยมูลช้างอัดเม็ดและปุ๋ยมูลช้างชนิดผง เพื่อต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มของมูลช้าง และยังช่วยส่งเสริมรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ ที่นำกระถางแปรรูปจากใบไม้ โดยนำกระถางที่ทำจากมูลช้าง และกระถางใบไม้นำมาเป็นกระถางเพาะเห็ดจากมูลช้างด้วย

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา เผยว่า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลช้าง ปางช้างแม่สาดำเนินการมานานถึง 3 ปี เพื่อให้คุณภาพของปุ๋ยมูลช้างเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด และเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรอินทรีย์และชุมชนเมือง โดยความร่วมมือและการต่อยอดพัฒนาทำต้นแบบ ปุ๋ยมูลช้างจนกลายมาเป็น “คชาภัณฑ์” ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งผลิตขึ้นที่ปางช้างแม่สา จึงนับเป็นอีกทางเลือกสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตให้กับพืชผลทางการเกษตรที่สามารถจับต้องได้ สามารถลดรายจ่ายในการซื้อปุ๋ยในการปลูกพืชผลทางการเกษตร ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุมิตร อธิพรหม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ ได้มาแนะนำต่อยอดเพื่อพัฒนาดินปลูกพลังช้าง แบบดินพร้อมปลูก, พัฒนาปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มพลังดิน แบบผง/แบบเม็ด ปุ๋ยอินทรีย์แบบมีเชื้อเห็ดผสมผสาน พร้อมทั้งปรับสูตรดินปลูกสำหรับกระถางปลูกกึ่งสำเร็จรูปสมาร์ทคัพ เพื่อต่อยอดและหารายได้เพิ่มมาดูแลช้างไทยที่ปางช้างแม่สาแห่งนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักจริงๆก็เพื่อให้ผลผลิตที่ได้จากช้าง กลับมาดูแลช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย

ดร.สุมิตร อธิพรหม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ กล่าวว่า วันนี้ได้นำตัวอย่างปุ๋ยแต่ละชนิด ร่วมไปถึงผลิตภัณฑ์ต้นแบบต่างๆจากมูลช้างนำมาสาธิตพร้อมให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจร ซึ่ง ม.แม่โจ้นั้นจะมีบทบาทในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลช้าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งวันนี้นำตัวอย่างปุ๋ยแต่และชนิดพร้อมผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยนำดินปลูกพลังช้าง แบบดินพร้อมปลูก แบบผง และแบบเม็ด ผสมกับเชื้อเห็ดมาสาธิตวิธีทำและปรับสูตรดินปลูก สำหรับกระถางปลูกกึ่งสำเร็จรูปแบบสมาร์ทคัพอีกด้วย

ดร. สุมิตร อธิพรหม กล่าวว่า การเพาะเห็ดป่า เช่น เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบที่กำลังทดลองเพาะอยู่ รวมไปถึงเห็ดใบแขนงต่างๆ มีทั้งชนิดเห็ดป่า ชนิดเห็ดสวน และเห็ดที่เพาะได้ทั่วไป ก็เพาะออกมารับประทานได้หลายชนิดแล้ว ขั้นตอนคือการนำเชื้อเห็ดมาหมักเป็นหัวเชื้อ แล้วนำไปผสมกับปุ๋ยมูลช้างเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมี แล้วนำไปอัดเม็ด ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดในการบำรุงแปลงปลูกผัก และพืชผลตามกระถางดอกไม้ โดยมีเชื้อเห็ดผสมในกระถางอยู่ด้วย เห็ดสามารถเจริญเติบโตตามแปลงเพาะปลูกในสวนผักและในกระถาง หรือในต้นไม้ที่เราต้องการเพาะเห็ด เราก็จะได้มีเห็ดไว้รับประทานได้ตามต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ปางช้างแม่สา ร่วมกับ ม.แม่โจ้ ได้พัฒนามูลค่าเพิ่มจากมูลช้างที่นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์แล้วยังสร้างอาหาร คือเห็ดชนิดต่างๆไว้รับประทานได้ในช่วงฤดูที่เห็ดออกมาในปีนี้จำนวนมาก ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย

สูตรการเพาะเห็ดผสมดินปุ๋ยมูลช้างของปางช้างแม่สา กับ อาจารย์ ม.แม่โจ้ อัตราส่วน นำเชื้อเห็ด เลือกเห็ดดอกแก่ๆ จำนวนอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ส่วน จากนั้นนำเชื้อเห็ดผสมน้ำหมักไว้ 1 คืนขึ้นไป ต่อมานำน้ำเชื้อเห็ดไปผสมกับดินปุ๋ยมูลช้างแล้วอัดเม็ด เท่านี้ก็ได้ดินปุ๋ยมูลช้างมีเชื้อเห็ดเพื่อนำไปเพาะในแปลงปลูกพืชผักสวนครัว หรือในกระถางต้นไม้ รดน้ำผักตามปกติ ก็ได้เห็ดจากการเพาะปลูกออกดอกให้รับประทานพร้อมพืชผักสวนครัวได้ ซึ่งเห็ดปางชนิดสามารถดูดซึมปุ๋ยมาให้พืชได้อีกด้วย ส่วนปุ๋ยมูลช้างนั้นช่วยทำให้สปอร์เห็ดเกาะตัวที่มูลช้างจะช่วยให้เห็ดขยายเชื้อและออกดอกได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการต่อยอดจากดินปุ๋ยมูลช้างอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งต่อไปในอนาคตจะสามารถนำรายได้มาเลี้ยงช้างในปางช้างแม่สาจำนวน 68 เชือก และยังเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ในการลดภาระการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาที่สูงขึ้น ให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้างในการดูแลพืชผลทางการเกษตรในระยะสั้น ที่สำคัญช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งผู้สนใจดินปุ๋ยมูลช้าง สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 063-4893594 คุณรัตนา ศรีหมอก ผู้จัดการปางช้างแม่สา หรือ 089-8384242 ได้ทุกวัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น