การเพาะเชื้อเห็ดป่า สู่โครงการชุมชนไม้มีค่า

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ร่วมสนับสนุนการเพาะเชื้อเห็ดป่า สู่โครงการชุมชนไม้มีค่า เพื่อพี่น้องประชาชน

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรรวมถึงชาวบ้านได้ปลูกไม้มีค่า เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหาร และพัฒนาปลูกพืชเศรษฐกิจป่าไม้ในชุมชนของตนเองให้ยั่งยืน โดยมีหน่วยงานหลักเข้ามารับนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการนี้ คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวคิดสร้างผืนป่าในชุมชน ภายใต้ชื่อ โครงการชุมชนไม้มีค่า ขึ้น

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการทำงานร่วมกันของคณะนักวิจัยประสบผลสำเร็จ และเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ เพื่อการขยายผลปลูกไม้มีค่า สร้างผืนป่า และต่อยอดไปสู่การสร้างพืชเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ร่มเงาไม้มีค่า อย่างเช่น การเพาะเชื้อเห็ดป่ากลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา คำว่า “เห็ดป่าไมคอร์ไรซา” เป็นชื่อเรียกของกลุ่มเห็ดในวงศ์เดียวกันกับเห็ดที่กินได้ ไม่มีพิษ มีหลากหลายชนิดที่ออกดอกในพื้นที่ป่าตามธรรมชาติในช่วงฤดูฝน เป็นที่นิยมรับประทานเนื่องจากมีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

นอกจากนั้นแล้ว เห็ดป่านับว่าเป็นทรัพยากรชีวภาพที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่า จากการเก็บเห็ดขายในแต่ละปีมีรายได้เป็นจำนวนมาก ตัวอย่าง เห็ดป่า ไมคอร์ไรซาที่มีมูลค่าสูงและนิยมนำมาบริโภค ได้แก่ เห็ดเผาะ (บางพื้นที่เรียกว่า เห็ดถอบ) กลุ่มเห็ดระโงก (ระโงกขาว ระโงกเหลือง และระโงกแดง) กลุ่มเห็ดตะไค (เห็ดตะไคขาว เห็ดหล่มกระเขียว) เห็ดหน้าม่อย เห็ดแดงน้ำหมาก กลุ่มเห็ดมันปู เห็ดน้ำแป้ง และเห็ดตับเต่า เป็นต้น” สำหรับความสำเร็จของการวิจัยการเพาะเชื้อเห็ดป่ากลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา โดยผ่านกระบวนการเพาะเชื้อเห็ด ทำหัวเชื้อเห็ดในห้องทดลองและวิจัย แล้วนำหัวเชื้อในกลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา แต่ละชนิดนั้นไปใส่ในต้นไม้ พืชป่า

รวมถึงต้นกล้าพืชไม้ผลกินได้ชนิดต่างๆ ที่จะปลูกลงดิน ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดเมื่อใส่หัวเชื้อเห็ดก็จะอาศัยอยู่ในรากฝอยของต้นไม้ และเจริญเติบโตอยู่ร่วมกันไปอย่างเกื้อกูลกัน นับเป็นความสำเร็จไปอีกขั้นในการสร้างผืนป่าคืนระบบนิเวศ และปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาในพื้นที่ต้นแบบศูนย์เรียนรู้ เพื่อการเกื้อกูลของทุกภาคส่วนและชุมชนต้นแบบ

ในการนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ร่วมกับ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, ผู้นำส่วนท้องถิ่นตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เข้ารับฟังการบรรยาย จาก ดร.สุจิตรา โกศล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณา มังกิตะ อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ บรรยายเรื่องเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อเห็ดป่ากลุ่มเห็ดไมคอร์โรชา และการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมโครไรซา ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาเกษรที่สูง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขยายผลโครงการโหล่งขอดโมเดล เพื่อให้ประชาชนได้เพาะเห็ดลดการเผาป่า ตามนโยบายของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3

โดยผู้บรรยายได้ให้ความรู้เรื่องวิธีการทำเชื้อเห็ด และการเพาะเชื้อเห็ด รวมทั้งเป็นไปตามโครงการอบรมส่งเสริมให้ความรู้การเพาะเห็ด จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) ซึ่งผู้เข้ารับฟังให้ความสนใจเป็นอย่างดี และในปี 2565 นี้ มีแผนให้ผู้นำชุมชนเข้ารับการฝึกอบรมฯ จำนวน 5 รุ่น ดังนี้ 1. วันที่ 20-21 มิถุนายน 2565 จัดการอบรมที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ จังหวัดแพร่แพร่ 2. วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 จัดการอบรมที่ อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน 3. วันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 จัดการอบรมที่ ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ 4. วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2565 จัดการอบรมที่ แคมป์สน จังหวัดเพชรบูรณ์ 5. ห้วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 จัดการอบรมที่ จัดหวัดเชียงราย (อยู่ระหว่างการระบุสถานที่) จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพล, ความรู้ความสามารถ และยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งบูรณาการศักยภาพทางการทหารในทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
26 พฤษภาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น