อปท.รวยผิดปกติ มท.ให้อำนาจท้องถิ่นไล่ออกได้

ป.ป.ช.ชี้มูล อปท.รวยผิดปกติ มท.ให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่น ไล่ออกได้เลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พนักงานเทศบาล หรือพนักงานเมืองพัทยา หรือพนักงานส่วนตำบล (อบต.) ทั้ง3 ระดับ มีมติให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ออกหนังสือเวียนแจ้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ถึงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสั่งลงโทษและการโต้แย้งคำสั่งลงโทษ ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลว่า กรณีข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พนักงานเทศบาล หรือพนักงานเมืองพัทยา หรือพนักงานส่วนตำบล (อบต.) รํ่ารวยผิดปกติ ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1592/2564 ให้ประธาน ก.จ.จ. ทุกจังหวัด ประธาน ก.ท.จ. ทุกจังหวัด และ ก.เมืองพัทยา หรือประธาน ก.อบต.จังหวัด ทุกจังหวัดเพื่อแจ้งให้ ผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) นายกเทศมนตรี และนายกเมืองพัทยา หรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ทราบและถือปฏิบัติ

โดยให้อำนาจ”นายก อบจ. นายกเทศมนตรีและนายกเมืองพัทยา หรือ นายก อบต. ในฐานะผู้บังคับบัญชา มีอำนาจสั่ง ลงโทษไล่ออกบุคคลดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง แล้วรายงาน ก.จ.จ. ก.ท.จ. หรือ ก.เมืองพัทยา และ ก.อบต. เพื่อทราบด้วย แล้วแต่กรณี

โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ก.จ.จ. ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ก่อน เพราะเป็นการใช้อำนาจ ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และผู้ที่ถูกลงโทษไม่อาจอุทธรณ์ต่อ ก.จ.จ. ตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิการอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2558 เพราะมิใช่การ
สั่งลงโทษไล่ออกตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัย และการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 หากประสงค์จะโต้แย้งคำสั่งลงโทษก็ต้องใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฝ่ายประจำ ในฐานะข้าราชการท้องถิ่น ระดับ ปลัด ในพื้นที่ภาคเหนือ แสดงความคิดเห็นว่า กรณี ที่ข้าราชการท้องถิ่น พนักงานเทศบาล พนักงานอบต. มีการชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกตินั้น ต้องพิจารณาในบริบท โครงสร้างภายในองค์กรว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ รายได้ จนถูกกล่าวหา ชี้มูลความผิดนั้น เป็นไปเพราะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบีบยจากผู้บริหารท้องถิ่นด้วยหรือไม่

“โดยข้อเท็จจริงแล้ว ต้องมองถึง การสมคบคิด ระหว่าง ฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ และ พาณิชย์หรือผู้ค้าขาย ผู้รับจ้างด้วย ต้องยอมรับบริษัทสังคม ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา มีเรื่องต่างตอบแทน ประโยชน์อื่นใด ในรูปแบบต่างๆที่มีการหยิบยื่นให้กัน จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่น หลายๆ แห่ง ที่มีพฤติกรรม ส่อไปในทางแสวงประโยชน์มิชอบ จากกิจกรรม โครงการ ของ อปท.ที่ บริหารงาน

อาทิ เสาไฟประติมากรรม ต่างๆ บางพื้นที่ บาง อปท. แทบจะสรุปได้ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ยังไม่สามารถ ดำเนินการกับผู้บริหารนั้นๆ ได้ แม้จะมีคำสั่ง หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยัง คืนกลับมาทำงาน และจะเดินหน้าแผนงาน ที่สังคมไม่ยอมรับต่อไป หรือแม้แต่ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างต่างๆ ยิ่งถนนแอสฟัลติกส์ ในแวดวงอปท.ต่างรู้ดี ทั้งนั้น ซึ่งกรณี ให้อำนาจผู้บริหารแบบนี้ ก็มีทั้งส่วนดี และผลกระทบที่จะ ตามมา ซึ่งประเด็นหลักๆคือ การกลั่นกรอง ตรวจสอบแผน ฝ่ายประจำที่ไม่สนองภารกิจ ก็อาจต้องโยกย้ายไปที่อื่น ที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อข้อครหา ทุจริตร่วมกันแน่นอน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น