เดินหน้าหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เร่งแก้หนี้ครู

31 พ.ค. 65 ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้โครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ภายหลังปิดรับการลงทะเบียนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาแจ้งความประสงค์เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินทางระบบออนไลน์ มีจำนวนผู้ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 41,128 ราย เป็นยอดหนี้รวม 58,835,199,322 บาท และได้มีการจำแนกและจัดส่งต่อข้อมูลให้กับสถานีแก้หนี้ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อเชิญลูกหนี้รายบุคคลมาหารือถึงแนวทางแก้ไข รวมถึงการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ พบว่ามีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำนวน 27 แห่ง ขอรับการสนุบสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวมประมาณ 54,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ในการแก้ไขด้วยการรวมยอดหนี้ของครูรายบุคคลมาไว้ที่สหกรณ์เพียงแห่งเดียว เพื่อการบริหารจัดการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

ความคืบหน้าล่าสุด นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินฯ กระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือร่วมกับนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และผู้บริหารของธนาคาร เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

รมว.ศธ. กล่าวถึงผลการหารือว่า ธนาคารออมสินได้ให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางศึกษาอย่างเต็มที่ โดยได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับครูมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.4 เท่านั้น โดยมีครูได้รับประโยชน์รวมเกือบ 3 แสนบัญชี

ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติสินเชื่อพิเศษให้กับครู โดยสามารถนำเงินบำเหน็จตกทอดมาค้ำประกันการกู้ยืม ซึ่งสามารถกู้ได้ 100% ของเงินบำเหน็จตกทอด คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ใน 10 ปีแรก มีระยะเวลากู้ถึง 30 ปี แต่มีเงื่อนไขให้นำเงินกู้ก้อนใหม่ไปชำระสินเชื่ออื่น ๆ ที่มีดอกเบี้ยสูง

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินได้สนับสนุนเงินกู้พิเศษดอกเบี้ยต่ำ ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยเฉพาะสหกรณ์ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และสหกรณ์ที่ทำการรีไฟแนนซ์ หรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” โดยให้กู้ในวงเงินถึง 2 เท่าของยอดเงินที่มีการปรับโครงสร้าง โดยให้อัตราดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได้ ต่ำสุดเพียงร้อยละ 2.2 ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท

“นับเป็นความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งผลประโยชน์ไม่เพียงเกิดขึ้นกับสหกรณ์ ตัวคุณครู หรือผลประกอบการโดยรวมของธนาคารเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนไทยทั้งประเทศ เพราะจะเป็นการสร้างสภาพคล่องทางการเงิน และส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ที่สำคัญ เมื่อคุณครูทุกคนได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการปรับสภาพและแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นการลดข้อกังวลในการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว จะส่งผลให้คุณครูสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น” นางสาวตรีนุชกล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังได้ชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายกับลูกหนี้ครูกว่า 25,000 ราย ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ รวมถึงการปรับลดค่าธรรมเนียมประกันและการค้ำประกันบุคคลที่ไม่จำเป็น การปรับลดจำนวนผู้ค้ำประกัน ช.พ.ค. กรณีผู้กู้ไม่ทำประกัน และเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาจำนวนผู้ค้ำประกันจากวงเงินกู้เป็นเงินต้นคงเหลือ รวมถึงมาตรการผ่อนปรนอื่นๆ ทั้งที่เป็นลูกหนี้ที่ดีและลูกหนี้ที่เป็น NPL เช่น การพักชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ยบางส่วน

นายสุทธิชัย จรูญเนตร กล่าวถึงการหาแหล่งเงินกู้เพื่อสนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ เพิ่มเติมว่า ได้มีข้อตกลงร่วมกับ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งประเทศไทย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด ในการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อไปดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” โดยให้วงเงินกู้ 3,000 ล้านบาท สัญญาละไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และมีเงื่อนไขว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้องนำเงินกู้ไปให้สมาชิกกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ได้ไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี มีระยะเวลาการชำระหนี้ 10 ปี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินอีก 30,000 ล้านบาท สัญญาละไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.7 ระยะเวลาการชำระหนี้ 10 ปี

“ทั้งนี้ นอกจาก ศธ.จะหาแนวทางแก้ไขด้วยการประสานเพื่อจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งประเทศไทย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัดแล้ว ยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 1-2 แห่ง ที่มีผลการดำเนินงานที่ดี พร้อมให้เพื่อนสหกรณ์ด้วยกันกู้อีก 200 ล้านบาทด้วย” นายสุทธิชัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น